ในตอนที่แล้วผมบอกไปว่า หน่วยงานที่วัดเรตติ้งบ้านเรา ก็คือบริษัทวิจัยเอกชนชื่อ AGB Neilsen ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า Neilsen เขามีอภิสิทธิ์ผูกขาดอะไรหรอกนะครับ แต่ว่าบริษัทเอเยนซี่โฆษณาบ้านเรานั้นยึดถือข้อมูลของ Neilsen เป็นหลัก และข้อมูลเรตติ้งของ Neilsen ก็ละเอียดมากๆ ถึงขั้นบอกได้เลยว่า ใครดูรายการอะไร เปลี่ยนไปช่องไหน ดูช่องนี้เป็นเวลาเท่าไหร่ ผู้ชมรายการนี้เป็นใคร มีฐานรายได้เท่าไหร่ อยู่ที่ไหน ฯลฯ รวมถึงมีการพัฒนารูปแบบการประเมินผลและจัดเก็บข้อมูลอยู่ตลอด ซึ่งนั่นทำให้ฐานข้อมูลของ Neilsen น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากคนในวงการมาตั้งแต่ปี 1980 เลยทีเดียว
ซึ่งสาเหตุที่ทาง Neilsen สามารถเก็บข้อมูลได้ละเอียดขนาดนั้น เพราะ ทาง Neilsen เขาจะมีกล่องวัดเรตติ้งที่สุ่มกระจายไปตามครัวเรือนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งตัวเลขในเวบไซต์ของ Neilsen บอกว่า มีกล่องนี้อยู่ทั้งหมด 2400 ครัวเรือน ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 8300 คน (อายุ 4 ปีขึ้นไป) ซึ่งจำนวนกล่องนี้จะแบ่งย่อยไปตามกลุ่มต่างๆ อีก ทั้งดิจิตอลทีวี ทีวีอนาล็อก ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลท้องถิ่น ไปจนถึงบ้านที่ติดทรูวิชั่น ซึ่งกล่องนี้ก็จะทำหน้าที่เหมือนผู้ทำวิจัยในการรวบรวมข้อมูลของผู้ชมส่งกลับมาที่ Neilsen แบบ Real Time และส่งต่อให้กับลูกค้าของ Neilsen ผ่านซอฟต์แวร์ประเมินผลชื่อ Arianna แบบวันต่อวัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ใครสนใจทาง Neilsen เขาก็ไม่หวงครับ..แต่ไม่ฟรี ก็คือใครอยากได้ข้อมูลเรตติ้งก๋็ต้องเสียเงินซื้อนั่นแหละครับ โดยเขาจะคิดเป็นสัญญารายปี ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายโดยมารยาทผมไม่ขอพูดถึง..แต่ก็ถือว่าสูงอยู่พอสมควรครับ
หน้าตาของโปรแกรม arienna ที่ใช้ดูเรตติ้งรายวัน (ภาพจาก http://www.agbnielsen.net)
ส่วนตัวเลขที่เราได้ยินว่า รายการนี้เรตติื้ง 0.1 บ้าง 1.0 บ้าง อะไรนี่จริงๆ ก็คือร้อยละของประชากรนั่นแหละครับ ซึ่งแต่นอนว่า เรตติ้ง 1.0 ของไทยและญี่ปุนนั้นจะไม่เท่ากัน โดยในปัจจุบัน เรตติ้ง 1.0 ของไทย(วัดทั่วประเทศ) จะมีค่าประมาณหกแสนห้าหมื่นคน ถ้าอยากรู้ว่ามีคนดูเท่าไหร่ก็เอาตัวเลขไปคูณกันดูครับ
ทีนี้มาดูประเทศไทยกันบ้าง อย่างที่ผมเคยบอกแหละครับว่า อันที่จริงในภาพรวมแล้วคนดูทีวีไม่ได้ลดลง เพราะคนที่เคยดูทีวีมาก่อนแล้วก็ยังดูทีวีอยู่ แต่การใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวีต่างหากที่ลดลง ส่วนเด็กๆ รุ่นใหม่นั้นก็ไม่ได้โตมากับทีวีแต่ใกล้ชิดกับสื่อออนไลน์มากกว่า บวกกับปัญหาจำนวนช่องทีวีดิจิตอลที่มีมากเกินไปทำให้เรตติ้งการ์ตูนญี่ปุ่นทางทีวีตกต่ำอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีก่อน
ผลที่ตามมาก็คือ แม้จะมีช่องทีวีที่ฉายการ์ตูนมากขึ้น แต่การ์ตูนที่ฉายอยู่ในตอนนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นการอิงกระแสที่มีอยู่เดิม ไม่มีใครอยากเสี่ยงเอาการ์ตูนที่ไม่มีใครรู้จักเข้ามาสร้างกระแสใหม่ เราจึงได้เห็นการ์ตูนกระแสหลักอยู่ไม่กี่เรื่องที่ยึดครองหน้าจอโทรทัศน์มาอย่างยาวนาน แถมบางเรื่องยังฉายวนไปหลายช่องอีก
แต่เอาจริงๆ นะครับ เรื่องความ เก่า ใหม่ หรือฉายวนไม่ฉายวนนี่ อาจจะมีผลน้อยกว่าฉายการ์ตูนเรื่องอะไร หรือฉายช่องอะไรด้วยซ้ำ เพราะอาจจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ถ้าจะบอกว่า ถึงแม้เราจะไม่นับการ์ตูนดิสนี่ย์หรือมาร์เวลทืี่กำลังออกอากาศทางช่อง 7 (ซึ่งเรตติ้งแซงการ์ตูนญี่ปุ่นไปไกลมาก) ช่อง 9 การ์ตูนตอนนี้ก็ไม่ได้ครองแชมป์การ์ตูนญี่ปุ่นเรตติ้งอันดับ 1 ในขณะนี้ แต่เป็นช่อง Mono ที่เอาเรื่องนารูโตะภาคแรกสุดมาฉายต่างหาก แปลกใจไหมครับ..ทั้งที่ช่อง 9 มีการ์ตูนที่สดใหม่กว่าแถมชื่อชั้นหลายๆ เรื่องดูยังไงก็ดูดีกว่านารูโตะภาคแรกสุดที่สร้างมาแล้วสิบกว่าปี แถมภาพยังเป็น SD อยู่เลย
ซึ่งถ้าจะถามว่าเพราะอะไร ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะในภาพรวมเรตติ้งผู้ชมตลอดทั้งวันของช่อง Mono นั้นสูงกว่าช่อง 9 พอสมควรครับ เนื่องจากช่องนี้ฉายหนังและซีรี่ส์ต่อเนื่องทั้งวัน ก็เลยส่งผลให้มีผู้ชมดูต่อเนื่องสูง รายการการ์ตูนช่องนี้ก็เลยได้อานิสงส์ตามไปด้วย (แต่จริงๆ แล้ว จำนวนคนดูการ์ตูนช่อง Mono ก็ยังปริมาณน้อยกว่าคนดูหนังต่างประเทศของช่อง Mono อยู่ดีครับ เราจึงไม่ค่อยเห็นทางช่องโปรโมตรายการการ์ตูนมากมายนัก เพราะหัวใจหลักของช่องไม่ใช่การ์ตูน) ส่วนช่อง 9 โมเดิร์นไนน์การ์ตูนเองก็ถือว่ายังมีผู้ชมเยอะสม่ำเสมอ มีการจัดกิจกรรมทั้ง On-Line(Facebook + MCOT KIDS Application) และ On Ground อย่างต่อเนื่อง จนรายการการ์ตูนญี่ปุ่นยังคงเป็นหน้าตาให้กับช่อง 9 มาโดยตลอด แม้ว่าในช่วงหลังๆ จะเริ่มมีการ์ตูนที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นหรือการ์ตูนไทย(อย่างพี่ก็อตจิ)เข้ามาแทรกบ้างก็ตาม
MCOT KIDS เป็น App ของช่อง 9 การ์ตูนที่มีคนโหลดไปแล้วมากกว่าแสนรายทีเดียว
และอีกมุมหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะคิดไม่ถึงก็คือ ในกลุ่มหนังฮีโร่ เรามักจะคิดว่าไรเดอร์มีคนดูเยอะสุด รองมาคืออุลตร้าแมนและเซ็นไต แต่ในประเทศไทย อุลตร้าแมนคือหนังฮีโร่ที่มีคนดูทางหน้าจอทีวีเยอะสุดครับ สูงกว่าไรเดอร์และเซ็นไตพอสมควร ซึ่งตรงนี้เอาง่ายๆ ก็ดูจากไลฟ์โชว์นี่แหละครับ จะเห็นเลยว่าอุลตร้าแมนมีแฟนๆ เด็กๆ ในบ้านเราเยอะจริง ๆ ส่วนเรื่องของความคมชัดในการออกอากาศแบบ SD และ HD นั้น บอกตามตรงว่า มีผลไม่สูงมากครับ แม้เราจะรู้สึกว่า HD ภาพสวย คมชัดกว่า แต่คนดูทีวีเลือกชมเพราะความสนุกมากกว่าความคมชัด ช่อง SD อย่าง Workpoint ถึงขึ้นมาติดอันดับช่องยอดนิยมได้
Flixer ก็เป็นอีก App หนึ่งที่มีการ์ตูนและหนังฮีโร่ของค่าย DEX ให้ดู แถมฟรีด้วย
อย่างไรก็ตาม เรตตื่้งนั้นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมดว่า การ์ตูนเรื่องนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะในปัจจุบัน ทีวีไม่ใช่ช่องทางเดียวที่คนจะดูการ์ตูน ยังมีช่องทางทั้งในรูปแบบออนไลน์ App , Youtube หรือกระทั่งสายมืดอีกมากมาย การ์ตูนบางเรื่องคนไม่อยากดูหน้าจอแต่ดูผ่าน App ผ่าน LineTV , VOD หรือ OTT (อย่างพวก Netflix)ก็มี หรืออย่าง SAO นี่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีโอกาสลงทีวีเลยด้วยซ้ำ (ไม่นับช่องแก๊งการ์ตูนนะ) แต่เราก็รู้กันดีว่ามูลค่าตลาดในบ้านเราของเรื่องนี้สูงแค่ไหน ดังนั้นเรตติ้งอาจจะไม่ใช่ตัวชี้ชัดครับว่าการ์ตูนเรื่องไหนดังไม่ดัง แต่ถ้าเป็นคนทำงานทีวี (ที่ไม่ใช่ทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส) เรตติ้งคือสิ่งที่จะบอกได้ครับว่า ช่องจะขายโฆษณาได้หรือไม่…ซึ่งนี่แหละคือตัวชี้เป็นชี้ตายอนาคตของช่องเลย
อ่านบทความตอนแรกย้อนหลังได้ที่นี่ครับ => เรตติ้งดี ๆ กับรายการการ์ตูนทีวีที่หายไป ตอนที่ 1