1987 เมมโมรี่ส์ เล่มนี้ดักแก่ เป็นผลงานใหม่ของ อิโนอุเอะ คาซึโร่ ผู้เขียน “มือขวากับขาโจ๋” อันลือลั่น (เมื่อสิบกว่าปีก่อน มือขวาฯ นี่ดังจริงๆ นะ) ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารการ์ตูน CoroCoro Aniki ซึ่งเป็นนิตยสารรายสองเดือน (ไปเช็คอีกรอบ เหมือนจะราย 3-4 เดือนเลย บางปีออก 3 เล่ม บางปีออก 4 เล่ม) รวมเล่มจึงออกช้ามากๆ ครับ ถ้าดูจากจำนวนตอนนี่จะออกได้แค่สองปีเล่มก็เต็มกลืนแล้ว (ดังนั้นเรื่องนี้ทาง สนพ.ต้นสังกัดเขาคงไม่ดองหรอกครับ แต่เล่มต่ออาจจะรอนานจนลืมเท่านั้นเอง)
และนิตยสาร CoroCoro Aniki นี่ก็เป็นนิตยสารที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็น “นิตยสารการ์ตูนเด็กแต่ดักแก่” ครับ เพราะการ์ตูนที่ลงในเล่มนี้ก็อย่างเช่น Bakusō Kyōdai Let’s & Go!! Return Racers (เร็ตสึกับโกภาคใหม่) หรือ Hyper Dash! Yonkurou (แดชยงคุโร่ ที่รีบูทเขียนใหม่โดยคนเขียนชาแมนคิง!) เป็นต้น ส่วน1987 เมมโมรี่ส์ นี่ก็เหมือนชื่อเรื่องเลยครับ เป็นการ์ตูนที่เล่าถึงชีวิตของเหล่าวัยรุ่นในยุค 80 ซึ่งถอดมาจากความทรงจำและประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ผ่านตัวละครกลุ่มเพื่อนมัธยมต้นวัย 14 ปีที่มีมาซาชิ ทาคาชิ และยาสุชิ เป็นแกนนำ
แค่พูดถึงเรื่องวัยรุ่นยุค 80 นี่ผมก็รู้สึกอยากอ่านแล้วครับ เพราะยุค 80 นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่นแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว แต่ก็ต้องบอกตามตรงครับว่า เรื่องราวยุค 80 ที่การ์ตูนเรื่องนี้ถ่ายทอดออกมานั้นมักจะเกี่ยวข้องกับอะไรหื่นๆ พอสมควร เช่นเกมไพ่นกกระจอกแก้ผ้า ตู้ขายหนังสือโป๊อัตโนมัติ รายการทีวีลามกหลังเที่ยงคืน ยุคเริ่มต้นของอนิเมลามก เกิร์ลเกม ฯลฯ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะเป็นการ์ตูนลามกนะครับ ก็เป็นการ์ตูนผู้ชายปกตินี่แหละ แต่เป็นการ์ตูนผู้ชายที่สะท้อนถึงอารมณ์พลุ่งพล่านของเด็กผู้ชายวัย 14 ปีที่กำลังจะกลายเป็นวัยรุ่นที่เริ่มสนใจในเพศตรงข้าม ในยุคที่วัฒนธรรมเกมและการ์ตูนรวมถึงสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่พอดี
ซึ่งเราก็ต้องยอมรับนะครับว่า ในยุค 80 หรือเมื่อราว 30 กว่าปีก่อนน่ะ คนไทยเรายังรู้จักวัฒนธรรมบันเทิงของญี่ปุ่นน้อยมากครับ และวัฒนธรรมบันเทิงญี่ปุ่นที่ถูกพูดถึงในเรื่องนี้เกือบทั้งหมดก็ล้วนแต่มีตัวตนอยู่จริงๆ ด้วย (แต่บางอันก็ต้องแปลงชื่อเสียหน่อยเพราะเหตุผลด้านลิขสิทธิ์) ผมเชื่อว่าคนญี่ปุ่นอ่านแล้วก็คงอมยิ้มกันแหละ แต่คนไทยอาจจะงงๆ หน่อย อย่างตัวผมเองแม้จะพอเก็ตเรื่องมุกเกมกับการ์ตูนในเรื่องอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทันมุกรายการทีวีญี่ปุ่นที่พูดถึงในเรื่องสักเท่าไหร่ คือตอนอ่านๆ เราก็เข้าใจแหละครับ เพราะเนื้อเรื่องอธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด แต่อาจจะไม่อินเท่าคนญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ตรงในช่วงนั้น (เหมือนเอาหนัง “แฟนฉัน” ไปให้คนญี่ปุ่นดูนั่นแหละครับ ก็ดูกันสนุกนะ แต่อาจจะไม่อิน) บางมุกต้องอ่านสองรอบถึงจะสังเกตเห็น และบางมุกก็ยังมีการพูดถึงการ์ตูนยุค 80 ที่หากไม่รู้จักหรือเคยดูมาก่อนก็อาจไม่เข้าใจด้วย (เช่นมุกอีเดี้ยนหรือคินนิคุแมน..ลองไปหาดูเองนะ) ซึ่งผมคิดว่าถ้าจะทำบทความอธิบายมุกในการ์ตูนเรื่องนี้ทั้งหมดให้คนที่เกิดหลังยุค 80 เข้าใจ อาจต้องใช้พื้นที่หลายหน้ากระดาษ A4 เลยล่ะครับ ก็เลยแอบเสียดายเล็กน้อยเหมือนกัน ว่าหากวิบูลย์กิจอธิบายมุกในการ์ตูนเรื่องนี้ออกมาเหมือนกับตอนที่ทำเรื่อง “คุณครูสิ้นหวังฯ” ก็อาจจะทำให้เข้าใจประเด็นแอบแฝงในบางจุดได้มากขึ้น
อ้อ ตอนแรกผมเห็นการ์ตูนเรื่องนี้ราคาแค่ 65 บาท ก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะการ์ตูนของค่ายนี้ปกติราคาเริ่มต้นที่ 70 แล้ว แต่พอได้อ่านดูถึงรู้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้หนาแค่ 128 หน้าเองครับ ก็ถือว่าแฟร์ดีนะที่ลดราคาให้ และขอแนะนำว่า เวลาอ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว search google ตาม เวลาที่เจอมุกอะไรที่น่าสนใจ มันก็เป็นความสนุกแบบแปลกๆ ดีครับ
ปล.ถึงพูดแบบนี้ แต่จริงๆ การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้อ่านยากอะไรหรอกนะ ใครๆ ก็อ่านได้สนุก แต่ถ้าเป็นโอตาคุยุค 80 หรือมักเกิ้ลที่พอรู้เรื่องวัฒนธรรมการ์ตูน เกม ยุค 80 อยู่บ้าง ก็จะอ่านสนุกขึ้นหลายเท่าเลย
แถมท้าย
โปสเตอร์เกม ultra real mahjong p II ที่ปรากฎในคอมมิคตอนแรก
ในตอนที่ 3 มีการพูดถึงเรื่อง “ครีมเมล่อน” จริงๆ แล้วมันคือ “ครีมเลม่อน” เป็น hentai ova ยุคแรกๆ (แต่ไม่ใช่เรื่องแรกสุด) ออกในปี 1984
ในตอนที่ 6 พูดถึงเกมไทม์เกิร์ลของค่าย TAITO จริงๆ คือ TIMEGAL นะครับ
เกม Wonder Momo ของค่าย NAMCO ทืี่พูดถึงในตอน 6 เช่นกัน เชื่อไหมว่าเกมนี้เคยถูกนำมาลงใน Smartphone ด้วย