หลังจากตอนที่ผ่านมาพูดถึงเรื่องระบบสายส่ง(ในมุมมองของผม)กันไปแล้ว มาตอนนี้อยากจะขอพูดถึงกระบวนการต่อจากนั้นอีกสักเล็กน้อยครับ นั่นคือ เวลาหนังสือส่งไปขายแล้ว ถูกตีกลับมาแล้วหนังสือเหล่านั้นจะไปที่ไหนต่อ
อย่างที่เคยบอกครับว่า ระบบขายหนังสือการ์ตูนจาก สนพ. ไปสายส่ง ส่วนใหญ่เป็นระบบฝากขาย (แต่จากสายส่งไปแผงหนังสือจะเป็นระบบอะไร จะเป็นฝากขายหรือขายขาด สายส่งเขาจะบริหารกันเอง) ซึ่งปกติโดยทั่วไป สนพ.ต่างๆ จะประเมินยอดขายกันที่ 3 เดือนครับ (บางเจ้าก็อาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้น บางที 6 เดือนก็มี) หลังจากนั้นก็จะต้องมาคิดว่า จะฝากขายหนังสือต่อ หรือเรียกคืนกลับมา ซึ่งหนังสือที่คืนกลับมา สนพ.นี่แหละครับ ที่จะเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่ทาง สนพ.จะต้องบริหารต่อไปให้ได้ เพราะ สนพ.เกิดใหม่ส่วนใหญ่ จะรอดหรือไม่รอดก็อยู่ที่ขั้นตอนนี้นั่นแหละครับ
ในภาพรวมแล้ว กระบวนการจัดการหนังสือคืนของ สนพ.นั้นจะมี 3 แนวทางใหญ่ๆ คือ 1) เก็บเข้าคลัง 2) ขายโละ 3) รีไซเคิล
สำหรับกระบวนการเก็บเข้าคลัง (รอเอากลับมาขายใหม่) อาจจะเป็นคำตอบที่หลายๆ คนคิด ซึ่งจริงๆ ผมเชื่อว่า ถ้าเป็นไปได้ ทุกค่ายก็อยากจะเลือกวิธีนี้กันหมดครับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นไปได้ยาก เพราะพื้นทืี่ในการเก็บสต็อกหนังสือมีจำกัดครับ หลายๆ คนอาจจะคิดไม่ถึงว่าปริมาณหนังสือคืนแต่ละปกนั้นมีมากขนาดไหน สมมติว่าหนังสือพิมพ์สักหมื่นเล่ม มีหนังสือคืนสัก 4000 เล่ม (40%) ต่อปกนี่ก็กองท่วมหัวผมแล้วครับ ถ้า สนพ.การ์ตูนระดับกลาง ออกหนังสือเดือนละสัก 5-6 ปกนี่ ก็ต้องเตรียมพื้นที่ขนาดเท่ากับคอนโด 1 ห้องเพิ่มขึ้นทุกเดือน ส่วนถ้า สนพ.ใหญ่ออกทีละ 10-20 ปกนี่ยิ่งมหาศาล
ซึ่งแน่นอนครับ หนังสือที่คืนมา มันคือหนังสือเก่า แม้จะมีสั่งย้อนหลังบ้าง ขายออนไลน์บ้าง ขนไปออกบูธบ้าง แต่ยอดมันไม่ได้เดินเร็วเหมือนวางขายใหม่ๆ แน่นอน ซึ่งบางทีก็อาจจะแบ่งไปทำเป็น Pack Set ลดราคาบ้าง ซึ่งจะช่วยให้ระบายของได้ง่าย และจัดเก็บได้เป็นระเบียบขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดพื้นที่ในคลังได้มากสักเท่าไหร่
อย่างที่สองก็คือ ขายโละครับ อันนี้ก็มีทั้ง สนพ.ขายโละเอง อย่างที่เรามักเห็นตามงานหนังสือหรือตาม event ที่เซลทิ้งเล่มละ 5-10 บาท ไม่ก็แพคเซ็ทแบบกรีดสันหรือฉีดสี หรือขายให้กับร้านหนังสือที่จะเอาไปขายทิ้งต่อแบบเหมาเข่ง ถ้าใครนึกไม่ออกก็ลองนึกถึงร้านหนังสือที่อยู่ติดกับทางเข้าศูนย์อาหารในงานสัปดาห์หนังสือนั่นแหละครับ คือร้านพวกนี้เขาจะซื้อแบบเหมาเข่ง ให้ราคาแบบถูก(มาก) ถูกกว่าต้นทุนค่าพิมพ์หลายเท่า แต่เขาก็จะซื้อแบบเหมาจริงๆ คือซื้อทุกเรื่องทุกปกที่ สนพ. อยากขายทิ้งแบบไม่ปฏิเสธถึงให้ราคานี้ได้ และเขาก็จะเอาไปออกขายตามงาน event ต่างๆ ตามห้างบ้าง ตามตลาดนัดก็มี ซึ่งหนังสือการ์ตูนอาจจะถูกกรีดสัน(ด้วยเลื่อยไฟฟ้า) หรือฉีดสี ตามแต่สมควร
หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงต้องกรีดสัน หรือฉีดสี ซึ่งจริงๆ ก็คือ การทำตำหนินั่นแหละครับ เหตุผลที่ต้องทำตำหนินั่นก็เพื่อไม่ให้หนังสือเหล่านี้ไปปะปนกับหนังสือที่อยู่กับทางสายส่ง เพราะในความเป็นจริงแม้เราจะบอกว่า ฝากขาย 3-6 เดือน แต่กระบวนการเรียกหนังสือคืนจากทั่วประเทศบางครั้งก็ใช้เวลาเกินคาดมาก บางทีหนังสือเมื่อ 3-4 ปีก่อนยังมีตีกลับคืนมาอยู่เลยก็มี (ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับทางสายส่งด้วย แต่บางทีก็ปฎิเสธได้ยาก) ซึ่งหากไม่มีการทำตำหนิก็อาจจะมีหนังสือที่เคยเซลล์ทิ้งกลับมาในระบบสต็อกได้ครับ (ขนาดทำตำหนิแล้ว ยังมีปนมาเลย ทั้งแบบจงใจและไม่จงใจ)
อย่างสุดท้าย ซึ่งเป็นวิธีที่หลายๆ คนไม่อยากทำมากที่สุด แต่บ่อยครั้งก็เลี่ยงไม่ได้เช่นกัน นั่นก็คือ การรีไซเคิล หรือในวงการเรียกว่า “สับทิ้ง” (ชั่งกิโลขายนั่นแหละครับ) ซึ่งแน่นอนครับว่า การทำแบบนี้คือเจ็บตัวยิ่งกว่าวิธีที่สอง เพราะราคาขายจะตกฮวบเหลือแค่กิโลละ 1-5 บาทเท่านั้น (ราคาแปรผันไม่แน่นอนนะครับ ขึ้นกับการต่อรองด้วย) แต่ก็เป็นกระบวนการจัดการสต็อกที่ล้นได้เร็วที่สุด หนังสือที่เข้าสู่กระบวนการนี้ก็คือหนังสือที่ถูกประเมินว่า ยังไงยอดก็ไม่ขยับแล้ว หรือขายไม่ออกนั่นแหละครับ ซึ่งเดิมทีจะเป็นพวกแมกกาซีนเสียมากกว่า เพราะแมกกาซีนมีช่วงเวลาขายสั้นมาก ยิ่งพวกการ์ตูนรายสัปดาห์นี่แทบไม่มีโอกาสได้สั่งย้อนเลย จึงเป็นตัวเลือกแรกที่จะต้องโดนสับทิ้ง แต่ในช่วงหลังๆ หนังสือทั่วไปก็โดนไปด้วยครับ ถ้ายอดไม่เดินจริงๆ
ทีนี้หลายๆ คนอาจจะคิดว่า มันมีทางเลือกอื่นอีกไหม ถ้าเป็นหนังสือทั่วไปก็อาจจะมีครับ เช่น ช่องทางการบริจาค หรือส่งเข้าห้องสมุด แต่ในกรณีหนังสือการ์ตูนนี่ แค่ให้ห้องสมุดซื้อหนังสือการ์ตูน(ที่ไม่ใช่การ์ตูนความรู้)เข้าไปยังยากเลยครับ หรือเอาจริงๆ มันก็ยังอาจจะมีวิธีอื่นอีก..แต่ก็เป็นเรื่องที่ได้ยินมาโดยที่ผมไม่มีประสบการณ์ตรงก็เลยขอละไว้ไม่พูดถึงละกัน เพราะยืนยันไม่ได้ว่าจริงหรือเปล่า แต่ผมก็ยังอยากย้ำครับว่า เรื่องการบริหารจัดการสต๊อกหนังสือเป็นเรื่องที่สำคัญมากจริงๆ เพราะ สนพ.จะเจ๊งไม่เจ๊งนี่วัดกันตรงนี้เลยครับ ถ้าบริหารสต๊อกดี แม้ยอดขายไม่หวือหวา ก็อาจจะไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าจัดการเรื่องสต๊อกไม่ได้นี่อาจจะไปเร็วกว่าที่คิดครับ เพราะการบริหารของคืนนี่แหละครับ คือต้นทุนสำคัญที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการพิมพ์ที่หลายๆ คนอาจมองข้ามไป..
ปล.รอบนี้เขียนไม่ยาวมากนัก เพราะสัปดาห์นี้ผมมีธุระต้องเดินทางไป ตจว.ตั้งแต่เช้าตรู่วันอาทิตย์เลยครับ อาจจะไม่ได้อัพเดทอะไรสักเท่าไหร่ แล้วยังติดงานที่ต้องเขียนให้ที่อื่นด้วย (แต่ยังอัพข่าวลงเวบเซนชูอยู่นะ) ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดจะกลับมาอัพเดทเวบกันช่วงปลายๆ สัปดาห์ครับ