BNK48: GIRLS DON’T CRY : ความพยายามไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ..จริงหรือ?

หลังจาก BNK48: GIRLS DON’T CRY เข้าฉายไปตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมก็ได้เห็นกระแสตอบรับที่มากมายและหลากหลายที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้กระทั่งรอบฉายและรายได้ของหนังเรื่องนี้ในแต่ละวัน ก็มีความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงที่น่าประหลาด

BNK48: GIRLS DON’T CRY เปิดตัววันแรกในฐานะหนังทำเงินอันดับ 1 ทำเงินไปเกือบ 4 ล้านบาทชนิดหักปากกาเซียน เพราะปกติหนังสารคดีไม่เคยทำเงินสูงขนาดนี้มาก่อน แต่พอวันศุกร์ กลับถูกฉลาม MEG แซงขึ้นอันดับ 1 พร้อมกับรายได้ที่ลดลงเหลือประมาณ 2 ล้าน และพอวันเสาร์ ก็โดน Hotel แซงไปอีก จนถึงตอนนี้ผมยังไม่รู้รายได้ของวันอาทิตย์ (เพราะผมเขียนบทความนี้วันอาทิตย์) แต่ดูสถานการณ์แล้ว BNK48: GIRLS DON’T CRY น่าจะทำเงินสุดสัปดาห์แรกไปประมาณ 10 ล้านบาท ใกล้เคียงกับรายได้เปิดตัวของ APPWAR ที่อร BNK48 ร่วมแสดงด้วย (edit : ล่าสุด ผู้กำกับออกมาแจ้งทางหน้าเพจแล้วนะครับว่า หนังทำเงินไป 10.5 ล้านบาทใน 4 วัน ซึ่งตรงกับที่ผมคาดการณ์ไว้)

BNK48: GIRLS DON’T CRY (ต่อไปจะเรียกว่า GDC) กำกับโดย เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับที่หลายๆคนรู้จักผลงานของเขาจาก ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ แต่สำหรับตัวผม ผมชอบผลงานเรื่อง เดอะมาสเตอร์ ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับร้านแว่นวิดีโอของคุณเต๋อมากกว่า อาจเพราะว่าผมเป็นคนที่ยังทันยุคสมัยรุ่งเรืองของร้านแว่น ยุคที่วิดีโอและหนังอินดี้ยังรุ่งเรือง ก็เลยรู้สึกอินไปกับสารคดีเรื่องนี้พอสมควร

ส่วน GDC นั้นก็ถือเป็นสารคดีร่วมสมัยของวงไอดอลที่กำลังโด่งดัง BNK48 ซึ่งตอนแรกที่ได้ยินว่าเต๋อมากำกับ ก็อดแปลกใจไม่น้อย เพราะหนังสไตล์เต๋อกับความน่ารักสดใสแบบ BNK48 นั้น ดูยังไงมันก็ไม่น่าจะไปกันได้ ยิ่งเป็นหนังสารคดีด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามที่คิดครับ ว่าตัวหนังมันไม่ได้ขายความน่ารักสดใสของน้องๆ อยู่แล้ว แต่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางตลอด 1 ปีของน้องๆ ว่ามันไม่ได้สวยงามและอยู่ท่ามกลางทุ่งลาเวนเดอร์ แต่มันมีเรื่องราวที่เป็นมากกว่าหยาดเหงื่อและน้ำตา และบางครั้งก็มืดมิดยิ่งกว่าจักรวาล DC

รูปแบบของการเล่าเรื่องก็คล้ายกับ เดอะมาสเตอร์ งานเก่าของเต๋อ เพียงแต่เรื่องนี้ใส่ความเป็นตัวเองลงไปมากกว่า โดยเต๋อทำตัวเป็นเหมือนโอตะที่ลงไปสัมภาษณ์น้องๆ ที่เหลืออยู่ในตอนนี้ทั้ง 26 คน เล่าเรื่องราวตั้งแต่วันออดิชั่นจนมาถึงการออกซิงเกิ้ลและระบบการแข่งขันภายในวงที่ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นวรรรณะ ไปจนถึงการตั้งคำถามที่มีต่อระบบของวง เช่น คนที่มีความพยายามจะได้ความสำเร็จจริงหรือ เอาอะไรไปตัดสินว่าใครพยายามพอหรือยัง คนเก่งกับคนที่ได้รับความนิยม ใครจะประสบความสำเร็จในวงมากกว่ากัน ฯลฯ

ซึ่งจุดเด่นของหนังเรื่องนี้ ก็ตรงที่มันมีความเป็นหนังสารคดีแบบเต๋อ มากกว่าความเป็นหนังสารคดีแบบ 48G นี่แหละครับ เท่านั้นยังไม่พอ หนังยังวิพากษ์ระบบของ 48G กันแบบตรงๆ ในหลายจุด ซึ่งทำให้หลายๆ คนที่ดูถึงกับสะอึก และต้องฉุกคิดว่า ระบบแบบนี้ มันยุติธรรมต่อน้องๆ จริงหรือเปล่า เราต้องการสัมผัสกับตัวตนของน้องๆ ที่แท้จริง หรือต้องการให้น้องๆ กลายเป็นตัวตนในอุดมคติแบบที่เราต้องการ เราเรียกการพัฒนาของน้องๆ ว่าการอีโว หรือเป็นการพยายามสร้างคาแรกเตอร์ให้ใกล้เคียงกับที่เราชอบ ซึ่งคำตอบของน้องๆ มันทำให้เรารู้สึกสะอึกๆ และทำให้สารคดีนี้มันดูดาร์ค ๆ ขม ๆ ในปากอย่างบอกไม่ถูก

อย่งไรก็ตาม ผมรู้สึกว่า สารคดีเรื่องนี้ มันยัง “ไม่สุด” มันมีความดาร์คเหมือนจักรวาล DC ก็จริง แต่มันก็ยังคงอยู่ในกรอบของความเป็นสารคดีของ 48G คือเหมือนว่าตัวหนังกำลังจะลงลึกไปในด้านมืดของวง แง้มประตูให้เราอยากรู้อยากเห็น แต่ก็เหมือนมีเสียงเรียกหามาร์ธ่าทำให้ตัวหนังกลับคืนสู่ด้านสว่าง และจบลงแบบโลกสวยกว่าที่คิด แถมยังปูทางไปต่อภาคสองแบบจักรวาลมาร์เวลอีกต่างหาก ซึ่งผมเองก็เสียดายในความ “ไม่สุด” ของมัน แต่ก็ยอมรับได้ครับ เพราะคิดว่าเต๋อเองก็น่าจะทำงานในกรอบที่วางไว้มากที่สุดแล้ว

และแน่นอนครับว่า แม้จะเป็นการเล่าเรื่องผ่านน้องๆ ทั้ง 26 คน แต่ใน 26 คนก็มีคนที่เต๋อเลือกให้เป็นตัวเด่นอยู่ จิ๊บกลายเป็นตัวแทนของอันเดอร์เกิร์ลที่ทำให้เราต้องถามตนเองว่า ต้องพยายามแค่ไหนถึงจะพอ เฌอปรางทำให้เรารู้สึกว่า การที่เฌอต้องไปยืนอยู่จุดนั้น จุดที่เป็นกัปตันของวง ตรงกลางระหว่างเมมเบอร์ ผู้บริหาร และโอตะ มันไม่ง่าย และเฌอรู้สึกเช่นไรในฐานะที่ต้องเป็น “พี่สาวของน้องๆ” และคนที่ผมว่าเด่นที่สุดก็คือ ปูเป้ ที่ยอมรับเลยว่าพอดูแล้วก็เข้าใจว่า ทำไมหลายๆ คนถึงชอบความตรงไปตรงมา(จนดุเหมือนเกรี้ยวกราด) ของเธอ และยิ่งดีใจมาก ที่ตอนกำลังเขียนรีวิวนี้ ก็มีข่าวว่าน้องได้เป็นเซ็นเตอร์สมใจสักที

อีกจุดหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า น่าเสียดาย ก็คือตัวหนังไม่ให้พื้นที่กับน้องๆ ที่จบการศึกษาออกไปสักเท่าไหร่ ทั้งที่สารคดีค่อนข้างให้น้ำหนักกับระบบการคัดสรรและชนชั้นภายในวง แต่คนที่จบการศึกษาออกไปกลับมีพูดถึงเพียงแค่ข้อความตัวหนังสือเท่านั้นเอง แต่ผมก็เข้าใจนะว่ามันคงมีข้อจำกัดที่ละเอียดอ่อนหลายๆ อย่างที่ทำให้พูดถึงในส่วนนั้นไม่ได้..ก็รู้สึกได้แค่ว่า..เสียดาย..และคงไม่ลืมว่า รุ่นหนึ่งยังเคยมีน้องๆ อีก 4 คนอยู่ด้วย

สุดท้าย GDC อาจจะไม่ได้เป็นสารคดีเกี่ยวกับไอดอลที่ดีที่สุด อาจจะไม่ได้โลกสวย และไม่ได้ฮาร์ทคอร์อย่างที่หลายๆ คนคาดหวัง แต่มันก็มีความน่าสนใจ และมีเรื่องราวที่พอดูแล้วอาจทำให้หลายๆ คนอาจจะมองวงนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ว่าเรื่องราวมันอาจจะดาร์คๆ ขมๆ แต่ชีวิตจริงในอีกหลายด้านของน้องๆ ที่เรายังไม่ได้เห็น มันอาจจะดาร์คและขมกว่านี้หลายๆ เท่า และผมว่า มันก็เป็นบันทึกความทรงจำตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของวงนี้ที่น่าสนใจและชวนให้นึกถึงความหลังอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน