มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า โรงพิมพ์ กับ สำนักพิมพ์ คือที่เดียวกัน ซึ่งแน่นอนครับว่า มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ว่าจะมีสำนักพิมพ์อยู่หลายแห่งที่มีโรงพิมพ์เป็นของตนเอง (ดีจัง~) แต่หลายๆ แห่งก็ไม่มี เพราะการบริหารโรงพิมพ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และมีต้นทุนการจัดการสูงมากด้วย ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ส่วนใหญ่เป็น SME ขนาดเล็กหรือกลางก็มักจะใช้วิธีการจ้างโรงพิมพ์กันมากกว่า
แน่นอนครับว่าการมีโรงพิมพ์เป็นของตนเองมันสะดวก และช่วยลดค่าใช้จ่ายรวมถึงขั้นตอนการพิมพ์ไปได้มาก แต่การจ้างโรงพิมพ์มันก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไปครับ ซึ่งตัวผมเองก็ไม่เคยมีโรงพิมพ์เป็นของตนเอง ดังนั้นเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ จึงเป็นมุมมองจากที่ผมเคยร่วมงานกับโรงพิมพ์หลายๆ เจ้ามา ซึ่งแน่นอนครับว่าอาจจะมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกันไป เพราะประสบการณ์เกี่ยวกับโรงพิมพ์ของแต่ละคนนั้นย่อมไม่ซ้ำกันอยู่แล้วครับ
เอาเป็นว่า ถ้าคุณจะทำหนังสือการ์ตูน สิ่งแรกที่คุณควรจะหาเตรียมไว้ก็คือ โรงพิมพ์ครับ และโรงพิมพ์นั้นก็จะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่นโรงพิมพ์ใหญ่ที่มีทุกอย่างพร้อมให้คุณแบบครบวงจร ไปจนถึงโรงพิมพ์เล็ก ๆ ที่คุณจะต้องวิ่งหาร้านเพลทเอง บางทีก็ถึงขั้นต้องวิ่งหาแท่นไสกาว(เข้าเล่ม)เองก็มีครับ ถ้าหากเป็นโรงพิมพ์ใหญ่ๆ เวลาดีลงานกัน ก็มักจะเป็นไปในรูปแบบการเหมาจ่ายกันทั้งหมดทุกขั้นตอน ตีไปเลยว่า ค่าพิมพ์หนังสือ 1 เล่ม ยอดพิมพ์เท่าไหร่ ตกเฉลี่ยเล่มละเท่าไหร่ ทำใบเสนอราคาส่งมา..จบ แต่บางทีโรงพิมพ์ขนาดเล็ก เขาก็คิดแบบเหมาจ่ายแบบโรงพิมพ์ใหญ่ได้เหมือนกัน เพียงแต่เขาจะไปหาซับต่อเอาเอง เช่น ร้านยิงเพลท ร้านไสกาวเข้าปก เคลือบปก หรือกระทั่งร้านใส่ถุงพลาสติกเป็นต้น
ซึ่งธุรกิจหนังสือการ์ตูน รวมถึงนิยายกลุ่มไลท์ จะต่างจากหนังสือปกติ ตรงที่จะมีการห่อพลาสติกหนังสือด้วย แต่โรงพิมพ์ปกติทั่วไป เขาไม่ค่อยคุ้นเคยกับงานห่อพลาสติกกันหรอกนะครับ สังเกตว่าหนังสือตามร้านหนังสือส่วนใหญ่มักจะไม่ห่อ แต่หนังสือการ์ตูนและแมกกาซีน(บางเล่ม) มักจะห่อ เพื่อปกป้องให้หนังสืออยู่ในสภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งแน่นอนครับว่า ตรงนี้มันกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามา และค่าใช้จ่ายในการห่อหนังสือก็ไม่ได้ถูกด้วย เพราะส่วนใหญ่ยังคงใช้แรงงานคนเป็นหลักครับ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเคยต้องไปห่อแมกกาซีนเองที่โรงพิมพ์แถวพระราม 2 เมื่อสิบกว่าปีก่อน เพื่อให้หนังสือออกทันก่อนถึงช่วงวันหยุดยาว ตอนนั้นเกณฑ์คนไป 5-6 คนใช้่เวลาเกือบทั้งคืนยังไม่เสร็จเลย..แถมแขนระบมไปหลายวันอีกต่างหาก นอกจากนั้นก็มีแจ็กเก็ตหนังสือ (ปกนอก) นี่แหละครับ ที่หนังสือปกติในบ้านเราเขาไม่ทำกัน (แต่ก็มีทำอยู่บ้างนะ) แต่การ์ตูนกับไลท์โนเวลมี และมีผลต่อการตั้งราคาขายด้วย ตามที่ผมเข้าใจคือโรงพิมพ์ญี่ปุ่นน่าจะมีเครื่องใส่แจ็กเก็ตอัตโนมัตินะ แต่บ้านเรายังไม่มีใครลงทุนในส่วนนี้ (อาจจะมีก็ได้ แต่ผมไม่เคยเห็น) ก็เลยยังเป็นแบบ Manual กันอยู่เสียเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง
นอกจากเรื่องถุงและแจ็กเก็ตแล้ว เรื่องร้านเพลทก็เป็นเรื่องสำคัญครับ สำหรับใครที่สงสัยว่าเพลทคืออะไร เพลทก็คือแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือนั้นแหละครับ เวลาเราปิดต้นฉบับเสร็จเราก็จะส่งไฟล์ของเราไปที่ร้านเพลท เพื่อทำเพลท (ในวงการเรียกว่า การยิงเพลท) แต่ก่อนจะทำเพลท เขาก็จะทำพรู๊พดิจิตอลออกมาให้ดูก่อน ซึ่งถ้าเกิดเราตรวจพรู๊พดิจิตอลกันจนพอใจแล้ว เขาก็จะยิงเพลทจริงและส่งเพลทไปโรงพิมพ์..อันนี้เป็นกรณีของโรงพิมพ์ที่ไม่มีร้านเพลทเป็นของตัวเองนะครับ แต่โรงพิมพ์ใหญ่บางแห่งเขาก็จะมีร้านเพลทในตัวด้วย ทำให้สะดวก รวดเร็ว และลดเวลาพิมพ์ได้ถึง 1-2 วันเลยทีเดียว เพราะการขนเพลทไปโรงพิมพ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแผ่นเพลทมีขนาดใหญ่ และบอบบาง บางทีต้องขนกันข้ามฝั่งกรุงเทพฯ แล้วไปรอคิวพิมพ์อีก ถ้าโรงพิมพ์กับร้านเพลทอยู่ด้วยกันก็จะดีกว่ามาก ซึ่งปัจจุบันโรงพิมพ์มักจะรั
และนอกจากการยิงเพลทแล้ว การเก็บรักษาดูแลเพลทก็เป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ เพราะต้นทุนการทำเพลทนั้นค่อนข้างสูง ถ้าเราต้องการพิมพ์ซ้ำ พิมพ์ซ่อม แล้วเพลทไม่มี เพลทเสียหายขึ้นมานี่ จบเลยครับ..จะยิงเพลทใหม่ก็อาจจะไม่คุ้มกับค่าพิมพ์เพิ่ม การ์ตูนหลายๆ เล่ม ที่ไม่มีโอกาสได้พิมพ์ซ้ำส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการบริหารจัดการเพลทนี่แหละครับ (แต่ถ้าคุณมีร้านเพลทเป็นของตัวเอง ไม่มีปัญหาเรื่องค่าเพลท ก็อาจจะเป็นเหตุผลอื่นๆ..ที่ขอเอาไว้เล่าทีหลังละกัน)
หลังจากเพลทเข้าโรงพิมพ์ ก็จะเป็นเรื่องของกระบวนการพิมพ์ ซึ่งจะพิมพ์หน้าสี ปก กับเนื้อใน(ขาวดำ) แยกกัน โดยในส่วนปกก็จะมีกระบวนการเคลือบปก เคลือบยูวี (ที่เราเห็นเป็นมันๆ ลื่นๆ บางทีก็เป็นด้านๆ นั่นคือเคลือบปกครับ ซึ่งจะเคลือบมันหรืิอด้านก็ได้) ซึ่งหากโรงพิมพ์ไม่มีเคลือบปกเป็นของตนเอง ก็ต้องส่งไปเคลือบปกร้านข้างนอก ก็จะเสียเวลาไปอีก 1-2 วัน หลังจากนั้นพอได้ส่วนต่างๆ มารวมกันครบถ้วน จึงจะนำทุกส่วนมาไสกาวเย็บเล่มเข้าด้วยกัน ซึ่งหากไม่มีร้านไสกาวเป็นของตนเอง ก็จะส่งไปไสกาวร้านข้างนอกอีก พอเสร็จทุกอย่างจึงจะนำมาบรรจุถุง แพ็คห่อ และส่งหนังสือไปที่สายส่งหรือส่งกลับมาที่สำนักพิมพ์ต่อไป
ถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะเริ่มสังเกตุเห็นว่า ธุรกิจการพิมพ์มันเป็นธุรกิจย่อยๆ ขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายครับ แม้กระทั่งตัวโรงพิมพ์เอง เวลาที่รับงานล้นจนพิมพ์ไม่ทัน บางทีก็มีการไปขอให้โรงพิมพ์อื่นที่เป็นพันธมิตรกันช่วยพิมพ์ก็มี ซึ่งแน่นอนครับ หากเป็นโรงพิมพ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจครบวงจรสามารถดำเนินกระบวนการทุกอย่างได้เองทั้งหมด ก็จะสามารถลดต้นทุนและทุ่นเวลาในการพิมพ์ไปได้มาก แต่ในบ้านเราโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ที่ทำได้ทุกอย่างนั้น มีอยู่น้อยมากจริงๆ และส่วนใหญ่ก็มักจะมีงานประจำล้นมืออยู่แล้วด้วย
การพิมพ์การ์ตูนออกมาสักเล่ม การบริหารค่าพิมพ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากมีโรงพิมพ์เป็นของตนเองก็จะสบายหน่อยครับ แต่หากไม่มี ก็ต้องบริหารจัดการกันดีๆ โดยเฉพาะช่วงงานสัปดาห์หนังสือนี่โรงพิมพ์เกือบทุกแห่งจะฮ็อตมากครับ เพราะแน่นอนว่าโรงพิมพ์เขาไม่รับงาน สนพ.เดียวอยู่แล้ว เขาก็รับงานหลายๆ ที่พร้อมกันนั่นแหละ (และทุก สนพ.ก็อยากได้หนังสือวางขายในงานวันแรกพร้อมๆ กันด้วย)
แต่ถ้าถามว่าธุรกิจโรงพิมพ์ตอนนี้ยังดีอยู่ไหม..ก็ตอบเลยครับว่า..ไม่ ในกระแสที่คนอ่านหนังสือลดลง แมกกาซีนที่เป็นรายได้ประจำของโรงพิมพ์ก็ล้มหายตายจากกันไปเกือบหมด สำนักพิมพ์เกิดใหม่ก็ไม่มี ที่มีอยู่ก็ไม่รู้จะปิดตัวกันเมื่อไหร่ ตอนนี้เซลของแต่ละโรงพิมพ์ก็ต้องวิ่งหางานกันขาขวิดเลยครับ..โรงพิมพ์ใหญ่บางที่นี่ต้องไปรับงานพิมพ์ฉลากปลากระป๋องกันเลยทีเดียว ไม่ก็รับงานที่ไม่เกี่ยวกับหนังสือ เช่นกล่องบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น วงการนี้ไม่มีอะไรง่ายๆ หรอก (จริงๆ นะ)
ปล.ว่าจะเขียนเรื่องนี้แต่หารูปประกอบยากมาก ก็เลยไม่ได้เขียนสักที (โรงพิมพ์ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยชอบให้เราเข้าไปเพ่นพ่านหรือถ่ายรูปข้างในหรอกครับ) และจริงๆ เรื่องโรงพิมพ์ยังมีเรื่องราวอีกหลายมิติที่ยังไม่ได้พูดถึง แต่ขอคร่าวๆ แค่นี้ก่อนละกัน เอาไว้เขียนต่อในตอนต่อๆ ไป เขียนยาวๆ ไปคนก็ไม่ค่อยอยากอ่าน (ฮา) จริงๆ ว่าจะพูดเรื่องกระดาษด้วย แต่เอาไว้ก่อนละกัน
ย้อนหลัง
ต้นทุนพิมพ์หนังสือการ์ตูนจริงๆ แล้วมันกี่บาท (บทแรก ว่าด้วยเรื่องสายส่ง)
ต้นทุนพิมพ์หนังสือการ์ตูนจริงๆ แล้วมันกี่บาท (บทสอง ขายไม่ออกแล้วไปไหน)