เมื่ออนิเมญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่อเมริกาในยุคก่อนทศวรรษที่ 90

ถึงตอนนี้หลายๆ คนก็เริ่มให้การยอมรับกันแล้วว่า อนิเมญี่ปุ่นนั้นถือเป็นวัฒนธรรมส่งออกที่มีชื่อเสียงในระดับโลก แต่กว่าที่วงการอนิเมญี่ปุ่นจะตีตลาดในต่างประเทศได้ถึงขนาดนี้ บอกเลยครับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในยุคที่โลกเรายังไม่รู้จักอินเตอร์เน็ตและสตรีมมิ่ง อนิเมญี่ปุ่นต้องใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียวกว่าจะเจาะตลาดใหญ่นอกประเทศอย่างอเมริกาได้ แถมยังต้องแลกกับการดัดแปลงเนื้อหาให้ถูกใจตลาดอเมริกัน และเกิดปัญหาลิขสิทธิ์ที่ซับซ้อนตามมาอีกมากมาย..วันนี้เราจะมาย้่อนดูครับว่า ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 90 นั้น วงการอนิเมญี่ปุ่นในฝั่งอเมริกาเป็นอย่างไรกันบ้าง

การ์ตูนแข่งรถในตำนานผู้เปิดตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นในอเมริกา

อะตอม หรือ แอสโตรบอย คืออนิเมญี่ปุ่นเรื่องแรกๆ ที่ถูกส่งไปตีตลาดอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นยุคการ์ตูนขาวดำ คือในปี 1964 ซึ่งในตอนนั้นก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง หลังจากนั้นก็เริ่มมีอนิเมจากญี่ปุ่นข้ามน้ำทะเลไปออกอากาศที่อเมริกาอยู่บ้าง เพราะตอนนั้นโลกเริ่มเข้าสู่ยุคทีวีบูมที่ทีวีเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความต้องการรายการโทรทัศน์มากขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้ารายการทีวีจากต่างประเทศมากขึ้นตามไปด้วย การ์ตูนญี่ปุ่นที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปฉายที่อเมริกาตอนนั้นก็มี Gigantor (หุ่นเหล็กหมายเลข 28) Tobor (The Eighth Man) และ Marine Boy (Kaitei Shōnen Marine) เป็นต้น

แต่ผลงานนี่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคนั้น กลับเป็นการ์ตูนแข่งรถ Speed Racer ที่ดัดแปลงจากอนิเมญี่ปุ่นเรื่อง Macha GoGoGo ของค่ายทัตสึโนโกะ ซึ่งโด่งดังจนถึงขนาดที่ว่ามีการนำมาออกอากาศซ้ำอีกหลายครั้ง (จนถึงปัจจุบันก็ยังมีออกอากาศรีรันอยู่ในหลายๆ ช่องเลยครับ) แถมยังเคยมีการทำภาคใหม่ออกมาในรูปแบบการ์ตูนอเมริกันที่หลายๆ คนอาจจะเคยผ่านตาจากช่องการ์ตูนเน็ตเวิร์คบ้านเรา และยังมีภาพยนตร์ฮอลลีวูดออกมาฉายเมื่อปี 2008 ด้วยนะ

ยุครุ่งเรืองแห่งอนิเมไซไฟ

ผลจากความนิยมของสตาร์วอร์ที่กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดอเมริกามีความนิยมการ์ตูนแนวไซไฟเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้เลยว่า การ์ตูนอเมริกันยุค 80 เริ่มมีเนื้อเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น (และขายของเล่นมากขึ้นด้วย) ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามนำเข้าอนิเมจากญี่ปุ่นเพราะอนิเมแนวไซไฟของญี่ปุ่นนั้นเริ่มพัฒนามาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่แน่นอนว่า พอเอาเข้าไปก็ต้องมีการดัดแปลงเนื้อหาให้ลดกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นลง รวมถึงลดทอนความชาตินิยมลงด้วย อย่างเช่นเรือรบอวกาศยามาโต้ซึ่งจริงๆ ก็มีที่มาจากเรือยามาโต้ที่มีชื่อเสียงในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกดัดแปลงเป็น Star Blazers (1979) หรือกัชช่าแมนก็ถูกนำไปทำเป็นเรื่อง Battle of the Planets (1978) แต่ได้มีการดัดแปลงเนื้อหาใหม่ เรียบเรียงใหม่ จนทำให้จำนวนตอนลดลงจากต้นฉบับ 105 ตอน เหลือ 85 ตอน และถูกนำมา edit ใหม่อีกครั้งโดยใช้ชื่อว่า G-Force: Guardians of Space ออกฉายทาง TBS ในปี 1986 โดยมีการปรับบทบาทของตัวละครบางตัว และมีการเปลี่ยนชื่อตัวละครใหม่หมดให้มีความเป็นอเมริกันมากขึ้น

แถมให้อีกนิดด้วยว่า ในปี 1996 ทาง Saban Entertainment, Inc. ที่เราคุ้นชื่อกันจากซีรี่ส์ Power Rangers ก็เคยซื้อสิทธิ์ Gatchaman II กับ Gatchaman Fighter ไปยำใหญ่เหมือนกันครับ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Eagle Riders ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจก็คือ เรื่องนี้ถูกนำมาออกอากาศที่อเมริกาเพียงแค่ 13 ตอนเท่านั้น แต่กลับมีออกอากาศที่ออสเตรเลียถึง 65 ตอนเลยทีเดียว ส่วนสาเหตุเป็นเพราะอะไรนั้นบอกตามตรงว่าไม่รู้เหมือนกันครับ (อ้าว)

แต่อนิเมเรื่องหนึ่งที่ผมว่าอเมริกาดัดแปลงได้สะแด่วแห้วมากก็คือ Saber Rider and the Star Sheriffs ในปี 1987 ซึ่งต้นฉบับของเรื่องนี้คือ Sei Juushi Bismark การ์ตูนหุ่นยนต์ของ Studio Pierrot ในปี 1984 ซึ่งเรื่องนี้จะมีตัวเอก 4 คน เป็นชาย 3 หญิง 1 โดยแต่ละคนจะเป็นตัวแทนของชาติต่างๆ อันประกอบด้วย ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกัน และฝรั่งเศส แน่นอนครับว่าเวอร์ชั่นต้นฉบับนั้น ตัวเอกคือ ฮิคาริ ชินจิ นักแข่งรถชาวญี่ปุ่นในชุดแดง แต่ในฉบับอเมริกันกลับดัดแปลงเนื้อหาให้ เซเบอร์ ไรเดอร์ (หรือ ริชาร์ด ลานสล็อต ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น) ตัวแทนจากอังกฤษ ขึ้นมาเป็นตัวเอกแทนเฉยเลย แถมในเวอร์ชั่นต้นฉบับนั้น มาริแอน ตัวนางเอกของเรื่อง (เอพริล ในเวอร์ชั่นอเมริกัน) มักจะกุ๊กกิ๊กอยู่กับ ชินจิ (หรือ ไฟร์บอล ในเวอร์ชั่นอเมริกัน) แต่ในซีรี่ส์ Saber Rider ดูเหมือนจะเน้นไปจับคู่เอพริลกับเซเบอร์ไรเดอร์มากกว่า ถึงขนาดมีเขียนฉากเพิ่มขึ้นมาเพื่อเพิ่มบทจิ้นให้คู่นี้เลยทีเดียว ซึ่งตอนที่เรื่องนี้เคยถูกเอามาฉายช่อง 3 บ้านเรา สังเกตได้เลยว่ามีบางฉากลายเส้นจะเปลี่ยนไปจากเดิม..นั่นเพราะเป็นฉากที่เขาเขียนเพิ่มขึ้นมายังไงล่ะครับ (ปล.เรื่องนี้ฝั่งอเมริกาดังมากเลยนะ ถึงขนาดลือว่าจะสร้างเป็นหนังโรงมาหลายปีแล้ว และล่าสุดก็มีเวอร์ชั่นคอมมิคบุ๊คออกมาเมื่อปี 2016 ด้วย)

อีกเรื่องหนึ่งที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในฝั่งตะวันตกแบบเหลือเชื่อก็คือ หุ่นห้าพยัคฆ์โกไลอ้อน (1981) ที่ถูกนำมาสร้างใหม่ในชื่อ Voltron (1984) ที่กระแสแรงมาก จนกล้าพูดได้เลยว่า น่าจะดังกว่าที่ญี่ปุ่นบ้านเกิดอีกครับ แถมยังอุตส่าห์มีภาคต่อออกมาในชื่อ Vehicle Team Voltron ด้วยครับ แต่คราวนี้กลับเอาอนิเมหุ่นยนต์รวมร่างอีกเรื่องคือ Kikō Kantai Dairugger XV มารวมเป็นจักรวาลเดียวกับ Voltron เฉยเลย แถมยังมีการทำตอนใหม่เพิ่มจากต้นฉบับญี่ปุ่นเพื่อให้หุ่นทั้งสองโผล่มาเจอกันด้วย และด้วยความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อก็ทำให้ Voltron เวอร์ชั่นอเมริกา มีภาคใหม่ออกมาถึง 5 ภาคที่ไม่มีในเวอร์ชั่นต้นฉบับ โดยภาคล่าสุดก็คือ Voltron: Legendary Defender ของค่าย DreamWorks เมื่อปี 2016 นี้เองครับ  แถมยังมีของเล่น คอมมิค และสินค้าออกมาวางจำหน่ายมากมาย ล่าสุดก็คือตัวต่อเลโก้ของ Voltron ที่เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อเดือนที่ผ่านมานี้เอง..และเชื่อว่าน่าจะมีอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับ Voltron ออกตามมาอีกเรื่อยๆ ครับ ชนิดที่แฟนๆ เวอร์ชั่นญี่ปุ่นต้องอิจฉาแน่นอน

ยุค 80 ไม่มีอะไรจะดังไปกว่า Robotech

เซเบอร์ไรเดอร์อาจจะดัดแปลงต้นฉบับได้เจ๋ง ส่วนโวลทรอนก็สามารถยำอนิเมสองเรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกันได้แบบเนียนๆ แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่เท่ากับ Robotech ที่ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของการยำใหญ่จนกลายเป็นดราม่าลิขสิทธิ์ที่ยาวนานจนถึงปัจจุบันครับ หลายๆ คนอาจจะพอทราบแล้วว่า ต้นฉบับของ Robotech นั้นก็คืออนิเมเรื่อง Macross แต่อันที่จริง อนิเมซีรี่ส์ของ Robotech นั้นเกิดจากการยำรวมอนิเมถึง 3 เรื่อง คือ Super Dimension Fortress Macross, Super Dimension Cavalry Southern Cross และ Genesis Climber Mospeada แถมในภาคพิเศษ Robotech: The Movie หรือ Robotech: The Untold Story ยังอุตส่าห์ไปเอาเรื่อง Megazone 23 มายำรวมได้อีก…เรียกได้ว่าอนิเมเรื่องนี้เกิดจากการยำรวมอนิเมญี่ปุ่นถึง 4 เรื่องทีเดียว

และเนื่องจากดราม่าเรื่องลิขสิทธิ์ (ที่ขอไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะยาวมาก เจ็บคอ) ก็ทำให้ Robotech ของอเมริกากับ Macross ของญี่ปุ่น แยกสายกันพัฒนาอย่างชัดเจนครับ ในขณะที่มาครอสของญี่ปุ่นก็มีภาคต่อและภาคพิเศษของตนเองออกมาเรื่อยๆ ทางฝั่ง  Robotech เองก็มีภาคใหม่ออกมาเรื่อยๆ เช่นกัน (โดยภาคหลังๆ เน้นทำเอง ไม่เอาฟุตเทจจากฉบับญี่ปุ่นมาใช้แล้ว) แถมยังมีนิยายและวิดีโอเกมรวมถึงสินค้าต่างๆ ออกมาอีกมากมายเลยทีเดียว แต่ด้วยเรื่องลิขสิทธิ์ที่วุ่นวายจนอีรุงตุงนังจนถึงวันนี้ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ สองซีรี่ส์นี้จะมาบรรจบรวมกันได้เสียที…

ปล.ข้อดีอย่างหนึ่งของโรโบเทคคือ เรื่องนี้ยังคงใช้ชื่อ มินเมย์ เหมือนต้นฉบับญี่ปุ่น (แต่ตัวละครอื่น โดนเปลี่ยนชื่อไปตามระเบียบ) และมีการแปลงเพลงของมินเมย์เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วย

เรื่องลิขสิทธิ์ที่ยังงงๆ กันอยู่

ถ้าดูจากการยำใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ที่ยังมีผลกระทบด้านลิขสิทธิ์มาจนถึงทุกวันนี้ มันก็อาจทำให้หลายๆ คนสงสัยเรื่องการขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศในยุคนั้นว่ามันมีปัญหาอะไรหรือเปล่า เพราะดูเหมือนว่าทางญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเยอะมาก (อย่างว่าแต่มาครอสเลย แถวบ้านเราเรื่องอุลตร้าแมนก็ยังมะงึกๆ กันอยู่) แต่พอหลังจากยุค 90 เป็นต้นมา ก็ดูเหมือนว่าการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่นจะเริ่มชัดเจนขึ้น ส่งผลให้มีการส่งออกอนิเมญี่ปุ่นออกสู่หลายๆ ประเทศมากขึ้น และปัญหาขัดแย้งทางกฎหมายก็น้อยลงด้วย

อเมริกันสไตล์ญี่ปุ่น

ใช่แต่เพียงการซื้อลิขสิทธิ์อนิเมจากญี่ปุ่นเข้าไปยำใหญ่ แต่ในยุค 80 ก็มีการ์ตูนอเมริกันหลายๆ เรื่องที่พยายามนำเสนอออกมาในสไตล์อนิเมญี่ปุ่น หรือบางทีก็ร่วมมือกับทางญี่ปุ่นไปเลย ยกตัวอย่างเช่น The Centurions การ์ตูนนักรบสวมเกราะจักรกลแบบอเมริกันที่ดูลายเส้นแล้วอาจไม่เชื่อว่าจ้างซันไรส์ทำ SilverHawks และ ThunderCats ที่ผลิตโดย Pacific Animation Corporation ของญี่ปุ่น จึงมีกลิ่นอายอนิเมญี่ปุ่นสูงมาก (บอสใหญ่ในเรื่อง SilverHawks นี่เก็ตเตอร์ดราก้อนชัดๆ) หรือกระทั่ง Transformers ที่เริ่มต้นจากไลน์ของเล่นชุด Diaclone ของ บ.ทาคาระประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะต่อยอดไปเป็นการ์ตูนทีวีอเมริกันที่ได้รับอิทธิพลจากทางญี่ปุ่นแบบเต็มๆ (หลังจากนั้นทางญี่ปุ่นถึงสร้างอนิเม Transformers ในแบบของตนเองตามออกมา) และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

ส่งไม้ต่อสู่ยุค 90

ในยุค 80 อนิเมญี่ปุ่นเริ่มเข้าไปทำตลาดในฝั่งอเมริกามากขึ้น แต่น่าเสียดายที่อนิเมเหล่านี้ถูกดัดแปลงเสียจนเด็กๆ อเมริกันในยุคนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอนิเมเหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นมาก่อน! (แน่นอน ยุคนั้นไม่มีกูเกิ้ลหรือวิกิพีเดียให้ค้นข้อมูลหรอกนะ) และเอาเข้าจริงๆ อนิเมที่ออกอากาศในอเมริกาตอนนั้น ก็มีแต่แนวไซไฟหุ่นยนต์ (ที่ขายของเล่นได้) เป็นหลัก ส่วนอนิเมเด็ก อนิเมเลิฟคอเมดี้ อนิเมแนวโชเน็น ที่กำลังบูมที่ญี่ปุ่นในยุคนั้นกลับไม่ได้รับความนิยมในฝั่งอเมริกาเลย อาจจะมีคนสนใจก็ในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ในขณะที่ทางฝั่งยุโรป การ์ตูนดังๆ อย่าง Captain Harlock หรือเซนต์เซย่า ก็เริ่มเข้าไปตีตลาด และยังมีกัปตันซึบาสะที่ประสบความสำเร็จในหลายๆ ประเทศ (ส่วนอเมริกาเรื่องนี้ไม่ดัง เพราะคนอเมริกันไม่นิยมเล่นฟุตบอลนั่นเอง)

แต่พอถึงยุค 90 เมื่อโฮมวิดีโอได้รับความนิยมมากขึ้น อนิเมจากญี่ปุ่นก็เริ่มหาชมง่ายขึ้น ทำให้ผลงานดีๆ เจ๋งๆ หลายเรื่องเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะอนิเมญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมื่อ “อากิร่า” ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่อเมริกาในวันคริสมาสต์ปี 1989 ก็ได้ทำให้คนอเมริกันมองวงการอนิเมญี่ปุ่นต่างไปจากเดิม หลังจากนั้นผลงานอย่างคาวบอยบีบ็อบก็กลายเป็นการ์ตูนฮิต ตามด้วยอนิเมเรื่องอื่น ๆ  อีกมากมาย ซึ่งบางเรื่องก็ได้รับความนิยมยิ่งกว่าที่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป

แต่วันนี้เราจะยังคงไม่พูดถึงเรื่องราวในยุค 90 กัันหรอกครับ…ไม่งั้นมันจะยาวเกินไป เอาไว้คราวหน้าละกัน