นี่ผีน้อยคิวทาโร่นะ ไม่ใช่คุณอลิซาเบธ!

ผมเชื่อว่า หลายๆ คนคงรู้จักคุณอลิซาเบธจากการ์ตูนเรื่องกินทามะกันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าใครอ่านกินทามะเล่ม 68 (เล่มล่าสุดที่ออกในบ้านเรา) ในหน้า 128 ก็คงได้เห็นตัวละครหน้าตาแปลกๆ คล้ายกับคุณอลิซาเบธ ซึ่งถ้าเป็นแฟนการ์ตูนรุ่นเก่า คงรู้กันดีอยู่แล้วว่า คุณอลิซาเบธเป็นตัวละครที่มีมุกล้อเลียนผีน้อยคิวทาโร่มาโดยตลอด แต่ถ้าเป็นแฟนๆ รุ่นใหม่ก็คงไม่แปลกที่จะไม่รู้จัก เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ห่างหายไปจากหน้าจอทีวีบ้านเรามานานกว่า 30 ปีทีเดียวครับ

Obake no Q-tarō หรือ ผีน้อยคิวทาโร่ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ ผีน้อยคิทาโร่ หรือ Gegege no Kitaro ที่กำลังฉายที่ญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้) ถือเป็นผลงานการ์ตูนคอมมิคเรื่องแรก (1964) ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (นามปากการ่วมของ 2 นักเขียนการ์ตูน ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ และ อาบิโกะ โมโตโอะ)  ผู้สร้างโดราเอม่อนที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง ซึ่งที่ผมบอกว่าเรื่องแรก ไม่ได้หมายความว่า อ.ฟูจิโกะ เขียนเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกนะครับ เพราะก่อนนั้น อ.ฟูจิโกะเขียนการ์ตูนมาแล้วหลายเรื่องแต่ไม่รุ่ง จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จจากเรื่องคิวทาโร่แหละ..และหลังจากนั้นก็อย่างที่เราทราบกันแหละครับว่า ทั้งสองได้กลายเป็นนักเขียนการ์ตูนระดับตำนานของญี่ปุ่นไปแล้ว

จุดเริ่มต้นของโครงเรื่องแบบสูตรสำเร็จฉบับฟูจิโกะ ฟูจิโอะ

คิวทาโร่เป็นเรื่องราวของผีน้อยที่ถือกำเนิดมาจากไข่ และพบกับเด็กผู้ชายชื่อโชตะก็เลยตามมาอยู่ด้วย จากนั้นพวกพ้องของคิวทาโร่ก็ตามมาจากเมืองผีกันเต็มไปหมดโดยไม่ต้องใช้สกิลเรียกพวก จนทำให้คิวทาโร่กลายเป็นผลงานของ อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ที่มีตัวละครหลักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างตัวละครสไตล์ อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ที่ถูกนำมาใช้ต่อๆ กันในการ์ตูนช่วงหลังอีกหลายเรื่อง ซึ่งโครงสร้างที่ว่าก็คือ ต้องมีตัวละครที่เป็นเด็กเกเร (ในคิวทาโร่คือเด็กอ้วนชื่อก็อตซิล่า ซึ่งเปรียบได้กับไจแอนท์ของโดราเอม่อน) ตัวละครที่เป็นเด็กปากแหลมอวดรวย (คิซาโอะ ซึ่งคาแรกเตอร์คล้ายกับซึเนโอะ) เด็กผู้หญิงในกลุ่มเด็กผู้ชาย (โยชิโกะ หรือโย้ทจัง ซึ่งคล้ายกับชิซูกะในโดราเอม่อนมาก ต่างกันที่ทรงผมจะเป็นทรงกระบังลมในสไตล์สาวยุค 70 เหมือนกับอั๊กโกะจังนั่นแหละ) และเด็กฉลาดหัวดี (ในเรื่องนี้คือ ฮากาเสะ ที่ต่างกับเดคิซูงิตรงที่ฮากาเสะจะไม่หล่อและออกเนิร์ดๆ หน่อย)

อย่างไรก็ตาม แม้การ์ตูนเรื่องนี้จะมีตัวละครค่อนข้างเยอะ (เมื่อเทียบกับผลงานอื่นๆ ของ อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ)  แต่ก็แบ่งคาแรกเตอร์ตัวละครได้อย่างสมดุลและสร้างภาพลักษณ์ที่เด็กๆ สามารถจดจำได้ง่าย จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นการ์ตูนฮิตเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าตอนที่การ์ตูนเรื่องนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารอยู่นั้นกระแสตอบรับจากผู้อ่านเงียบมากจนผู้เขียนท้อใจนึกว่าการ์ตูนไม่ดัง แต่พอตัดจบเท่านั้นแหละ ผู้อ่านโทรศัพท์และส่งจดหมายมาโวยวายจน สนพ.แทบแตก (ถ้าสมัยนี้ก็คงทวิตกันถล่มทลาย) จนในที่สุดก็ต้องกลับมาเขียนต่อและถูกนำไปสร้างเป็นการ์ตูนโทรทัศน์และได้รับความนิยมสูงเอามากๆ เลยทีเดียว

สร้างเป็นการ์ตูนทีวีมาแล้วหลายครั้ง

ในส่วนของการ์ตูนโทรทัศน์นั้น ผลงานเรื่องนี้สร้างเป็นอนิเมหลายรอบ ครั้งแรกในปี 1965 – 1967 เป็นการ์ตูนขาวดำ (ออกอากาศทาง TBS) ครั้งที่สองเป็นการ์ตูนสีในปี 1971-1972 (ออกอากาศทาง NTV) ซึ่งทั้งสองเวอร์ชั่นนี้ประสบความสำเร็จสูงมาก แต่แทบไม่เหลือหลักฐานมาให้คนรุ่นหลังได้ชมเพราะไม่เคยมีการทำเป็นวิดีโอออกมาขาย จนมาถึงภาค 3 ที่ออกอากาศทางทีวีอาซาฮี ในปี 1985-1987 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่บ้านเรารู้จักกันดีที่สุด เพราะเคยนำมาฉายในบ้านเราทางช่อง 9 การ์ตูน ทำให้เด็กๆ ในยุคนั้น (หรือลุงๆ ในยุคนี้) ได้รับชมการ์ตูนเรื่องนี้ บวกกับตอนนั้นกระแสโดราเอม่อนกำลังมาแรงในบ้านเราด้วย ทำให้ผลงานของ อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ถูกซื้อมาออกทีวีบ้านเราแทบจะทุกเรื่อง และเป็นภาคเดียวที่มีการทำโฮมวิดีโอออกมาจำหน่ายด้วย

การ์ตูนเรื่องนี้มีตอนจบด้วยนะ

และถึงแม้ว่า การ์ตูนส่วนใหญ่ของ อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ จะไม่มีตอนจบที่ชัดเจน แต่สำหรับการ์ตูนเรื่องนี้ มีตอนจบครับ..แถมเป็นตอนจบที่เรียลผิดวิสัยการ์ตูนเด็กเอามากๆ โดนตอนจบของเรื่องถูกตีพิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้นของ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ เล่ม 1 (เล่มปกทองที่เนชั่นพิมพ์มาขายนั่นแหละครับ) โดยจะเป็นเรื่องราวภายหลังจากเหตุการณ์ในเรื่อง 15 มี เมื่อพวกโชตะเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น มีครอบครัว คิวทาโร่ที่กลับมาพบกับโชตะอีกครั้งจะเป็นเช่นไร ซึ่งในส่วนของเนื้อเรื่องผมไม่ขอสปอยล์มากนะครับ อยากให้ลองไปอ่านกันเอง เพราะยังพอหาซื้อได้อยู่ตามงานสัปดาห์หนังสือซึ่งล่าสุดก็เห็นเซลล์ทิ้งเหลือแค่ไม่กี่บาทแล้ว

เคยเล่นเกมผีน้อยคิวทาโร่กันหรือเปล่า?

ด้วยความสำเร็จของซีรี่ส์ชุดนี้ ทำให้คิวทาโร่ถูกนำไปต่อยอดผลิตเป็นสินค้ามากมาย (เพราะตอนฉายทีวีนั้นเรตติ้งสูงในระดับปรากฎการณ์ในยุคนั้นเลย) ที่หลายๆ คนยังจดจำได้ก็คือ เกมผีน้อยคิวทาโร่บนเครื่องแฟมิค่อมที่สนุกมาก (แม้เนื้อเรื่องจะแทบไม่มีอะไรเลยก็เถอะ) ซึ่งถ้าใครมีตลับเกมนี้อยู่ในมือละก็ เอามาขายต่อในหมู่นักสะสมได้ราคาดีเลยล่ะ หรือกระทั่งเกมแพคแมนที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้น ทางผู้สร้างก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตัวผีในเกมนั้นมีที่มาจากผีน้อยคิวทาโร่ด้วยนะ (แต่ส่วนตัวผมนึกว่าตัวแพคแมนจะมีที่มาจากโอจิโร่ น้องของคิวทาโร่เสียอีก เพราะตัวเหลืองๆ เหมือนกัน-ฮา)

ตัวละครหลักในเรื่องผีน้อยคิวทาโร่

คิวทาโร่

ผีน้อยที่เกิดออกมาจากไข่ กินจุ (ซัดข้าวได้ทีละ 20 ชาม) กลัวหมา ขี้แย แปลงร่างก็ไม่เก่ง (เนียนสุดคือแปลงร่างเป็นรองเท้า) เหมือนจะเป็นผีที่ไม่เอาไหน ทำอะไรไม่ได้นอกจากบินไปบินมาและก่อเรื่องวุ่นวายไปวัน ๆ แต่ก็เป็นที่รักของเพื่อนๆ อยู่นะ

 

โอฮาระ โชตะ

เด็กผู้ชายที่ได้พบกับคิวทาโร่และกลายเป็นเพื่อนกัน คิวทาโร่ก็เลยตามมาอยู่บ้านด้วย โชตะจะเรียกคิวทาโร่ว่า คิวจัง ส่วนคิวทาโร่ก็จะเรียกโชตะว่า โชจัง ซึ่งมีเกร็ดเล็กน้อยตรงทที่ชื่อโชตะนั้น เอามาจากชื่อของ อิชิโนโมริ โชทาโร่ (บิดาแห่งมาสค์ไรเดอร์ซีรี่ส์) ซึ่งเป็นเพื่อนกับ อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ นั่นเอง

 

โอจิโร่

น้องชายของคิวทาโร่ ตัวกลมๆ สีเหลือง พูดได้คำเดียว “บาเกรัตต้า” และมีแต่คิวทาโร่เท่านั้นที่ฟังคำพูดของโอจิโร่รู้เรื่อง

พีโกะ

น้องสาวของคิวทาโร่ เป็นผีตัวกลมแต่นุ่งกระโปรง หัวดีและมีความสามารถมากกว่าพี่ชาย

โดรอนป้า

ผีจากอเมริกา (ก็เลยมีดาวติดที่ตัว) หัวดี ฉลาด ทำให้คิวทาโร่รู้สึกอิจฉาและมองว่าโดรอนป้าเป็นคู่แข่ง

ยูโกะ

ผีที่เป็นแฟนกับคิวทาโร่ มีจุดเด่นคือ..เธอเป็นผีที่เก่งยูโด!


ปล.เคยเขียนเรื่องนี้ในนิตยสารเซนชูเมื่อนานมาแล้ว พอดีอ่านกินทามะเล่มล่าสุดแล้วเห็นมีคิวทาโร่กับผองเพื่อนโผล่มาในเรื่อง เลยเอาของเก่ามาเขียนเพิ่มและเขียนรีไรท์ใหม่หมดอีกรอบครับ เผื่อใครสงสัยว่า ที่โผล่มาในกินทามะเล่มที่ 68 หน้า 128 น่ะ มันตัวอะไร!