ทำไมกันดั้มถึงต้องมี 3 สี?

ถึงแม้จนถึงตอนนี้ โลกเราจะรู้จักหุ่นรบที่ชื่อกันดั้มมานานจะ 40 ปีแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของกันดั้มก็คือ การที่ตัวของกันดั้มนั้นมีสีพื้นเป็นสีขาว และมีสีร่างกายเป็นสีน้ำเงิน แดง เหลือง เป็นสีพื้นหลักแทบจะทุกภาค จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ใคร ๆ ก็จดจำได้ แต่ที่จริงแล้ว สีสามสีหลักของกันดั้มนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะครับ

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน (1978) ตอนแรกโปรเจคของกันดั้มนั้น ยังใช้ชื่อว่า Freedom Fighter Gunboy อยู่เลยครับ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น Gundom (Gunboy+Freedom) และกลายเป็นกันดั้มอย่างที่เรารู้จักกันดี ตอนนั้นผู้กำกับโทมิโนะตั้งใจจะทำให้อนิเมเรื่องนี้เป็นหนังสงครามที่แหวกแนวไปจากขนบเดิมในขณะนั้น กันดั้มต้นแบบสุดท้ายก่อนที่จะเป็นตัวที่เราคุ้นเคยกันดีนั้นจึงเป็นสีขาวเรียบๆ เพราะผู้กำกับโทมิโนะเห็นว่าอาวุธสงครามอย่างเครื่องบินรบ เรือบรรทุกเครื่องบิน ล้วนแต่มีสีสันที่เรียบง่าย กันดั้มจึงควรมีสีที่เรียบง่ายเพื่อความสมจริง แต่แนวคิดนี้กลับไม่ถูกใจบริษัทของเล่นที่เป็นสปอนเซอร์สักเท่าไหร่ เพราะสีมันเรียบเกินไปไม่น่าจะถูกใจเด็กๆ  (แม้จะไม่พูดถึงตรงๆ แต่ก็พอจะเดาได้ว่า สปอนเซอร์ที่ว่าน่าจะหมายถึงบริษัทโคลเวอร์ สปอนเซอร์หลักที่ได้ลิขสิทธิ์ทำของเล่นพวกหุ่นเหล็กกันดั้มและหุ่นสำเร็จรูปในยุคนั้น)

กว่าจะเป็นกันดั้มที่เราคุ้นเคยกันนั้น ต้องผ่านการรีดีไซน์หลายรอบมากทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่ผู้กำกับโทมิโนะกับสปอนเซอร์จะแตกหักกัน จนอนิเมล่มตั้งแต่ก่อนสร้าง ทางทีมงานจึงได้ปรับโทนสีของกันดั้มเสียใหม่ เพื่อให้โปรเจคอนิเมสามารถเดินต่อไปได้ เพราะอนิเมฉายทีวีในยุคนั้นถ้าไม่มีสปอนเซอร์ออกทุนให้ก็ทำอนิเมไม่ได้เหมือนกัน โดยการเติมสีแดง เหลือง น้ำเงิน ที่เป็นแม่สีที่สดใสและดูสะดุดตาลงไปเพื่อให้เด็กๆ ชื่นชอบ (และการใช้แม่สี ยังง่ายต่อการผลิตของเล่น สื่อสิ่งพิมพ์ โดยที่สีไม่เพี้ยนมากด้วย) โดยลือกันว่าคนที่ทำการปรับสีดีไซน์ของกันดั้มก็คือ ยาสึฮิโกะ โยชิคาสึ หรือ YAS คาแรกเตอร์ดีไซน์และชีฟอนิเมชั่นไดเรคเตอร์ของกันดั้มนั่นเองครับ

ของเล่นกันดั้มของบริษัทโคลเวอร์ ที่ขายดีสวนกระแสอนิเม แม้ดีไซน์จะไม่ตรงกับในอนิเมสักเท่าไหร่ เพราะลูกค้าหลักของโคลเวอร์คือเด็กๆ แต่แฟนๆ ของกันดั้มกลับเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากกว่า

ทว่าเมื่อทางสปอนเซอร์พอใจกับดีไซน์ของกันดั้มแล้ว ทางผู้กำกับโทมิโนะก็ขออิสระในการออกแบบหุ่นฝ่ายผู้ร้าย ซึ่งในตอนนั้นยังเชื่อกันว่าเป็นหุ่นตัวประกอบที่ใช้แล้วทิ้งแบบสัตว์ประหลาดประจำตอนตามกระแสอนิเมอยู่ โดยมอบหมายให้ โอคาวาระ คุนิโอะ ซึ่งรับหน้าที่เมคานิกส์ดีไซน์ ออกแบบได้อย่างเต็มที่ จนกลายมาเป็น ซากุ หุ่นสีโมโนโทนแบบที่โทมิโนะตั้งใจแต่แรกนั่นเองครับ และอย่างที่เรารู้ก็คือ ซากุไม่ได้เป็นหุ่นใช้แล้วทิ้ง แต่กลับมีบทบาทตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องเลย และกลายเป็นหุ่นโมบิลสุทฝ่ายซิออนที่ถูกจดจำมากที่สุด จนกลับมามีบทบาทในอีกหลายภาค และยังผลิตเป็นสินค้ามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเลยด้วย

ส่วนกันพลาที่เรารู้จักกันดีนั้น เกิดขึ้นมาหลังจากอนิเมเรื่องนี้ฉายจบไปแล้ว แต่ปรากฎว่ากระแสหลังการฉายยังดีอยู่ (จากตอนแรกที่อนิเมโดนตัดจบเพราะเรตติ้งต่ำ แต่ในช่วงหลังของเรื่องของเล่นกลับขายดีขึ้น และมีกระแสเรียกร้องจากแฟนๆ ที่พลาดชมรอบแรกจนถูกนำกลับมาฉายรีรันใหม่ แต่เนื่องจากว่าตัวอนิเมถูกตัดจบ เนื้อหาเลยไม่สมบูรณ์ตามที่ตั้งใจไว้ สุดท้ายผู้กำกับโทมิโนะก็เลยนำอนิเมภาคทีวีมาตัดต่อใหม่จนกลายเป็นหนังโรง 3 ภาคในที่สุด)

ทว่าพอบันไดจะกระโจนเข้ามาแจมด้วย ก็ปรากฎว่าลิขสิทธิ์ของเล่นหุ่นเหล็กและหุ่นสำเร็จรูปตกไปอยู่กับโคลเวอร์เสียแล้ว ทางบันไดเลยต้องหันไปทำตลาดพลาสติกโมเดลแทน โดยในตอนแรกให้กันดั้มแฝงอยู่กับซีรี่ส์ของเล่นพลาสติกโมเดลชุดเบสต์เมก้าคอลเลคชั่น (1979-1984) ร่วมกับการ์ตูนหุ่นยนต์เรื่องอื่น (เป็นลำดับที่ 4 ต่อจากไดเดนจิน ก็อตซิกม่า และโกเดี้ยน) โดยเน้นราคาถูกเพื่อจะได้วางจำหน่ายตามร้านขนมได้ด้วย (ส่วนสเกล 1/144 เป็นเพราะข้อจำกัดด้านขนาดกล่อง ที่อยากให้เท่ากับหุ่นจากซีรี่ส์อื่นในขณะนั้นครับ) แต่พลาสติกโมเดลกันดั้มกลับประสบความสำเร็จสูงมากจนต้องแตกไลน์ใหม่แยกออกมากลายเป็นกันพลาแบบที่เรารู้จักกันดีนั่นเองครับ

ชุด DX กัตไต ของเล่นกันดั้มที่ขายดีที่สุดของโคลเวอร์

และหลังจากโคลเวอร์ปิดกิจการในปี 1983 (หลายๆ คนลือกันว่าเป็นเพราะกันดั้ม แต่โทมิโนะยืนยันว่าไม่ใช่) บันไดก็กลายมาเป็นสปอนเซอร์หลักของกันดั้มจนถึงปัจจุบัน รวมถึงผลงานเรื่องอื่นๆ ของซันไรส์ด้วย ก่อนที่บันไดจะเทคโอเวอร์ซันไรส์เข้ามาเป็นบริษัทลูกในช่วงกลางยุค 90 และเข้ามามีอิทธิพลเหนือกันดั้มซีรี่ส์จนถึงปัจจุบัน