เวลาเราดูอนิเม ไม่ว่าจะช่องทางโทรทัศน์ เคเบิล หรือออนไลน์ เราเคยสงสัยไหมว่า ทีมงานอนิเมเขาเอาเงินที่ไหนมาทำอนิเมให้เราดูกัน ซึ่งแน่นอนครับว่า การทำอนิเม 1 ตอนนั้น ต้องใช้คนจำนวนมาก ทั้งทีมงานอนิเมเตอร์ ผู้กำกับ คนเขียนบท กราฟฟิค ดนตรี นักพากย์ และอื่นๆ มากมาย แล้วทีมงานเหล่านี้เขาทำอะไรกินกัน อิ่มทิพย์หรือเปล่า? หรือเขามีธุรกิจมืดใต้ดินเอาเงินมาฟอกทำอนิเมกัน (เหมือนจะตลก แต่มีคนคิดอย่างนี้จริงๆ นะครับ) วันนี้ก็เลยคิดว่า อยากจะมาเล่าเรื่องราวในอีกมุมหนึ่งที่เราอาจจะไม่ค่อยได้รู้กันสักเท่าไหร่ ว่าอนิเมที่เราดูกันอยู่ เขาเอาเงินที่ไหนมาทำ?
ทีวีและสปอนเซอร์
อนิเมที่เราดูส่วนใหญ่นั้นเป็นทีวีซีรีส์ที่ทำขึ้นมาเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ครับ ซึ่งแน่นอนว่า รายได้หลักของอนิเมทีวีซีรีส์ก็คือสปอนเซอร์ อย่างซาซาเอะซังที่เป็นอนิเมแห่งชาติของญี่ปุ่นออกอากาศมาเกือบ 50 ปีนี่ก็มีสปอนเซอร์หลักคือ Toshiba นะครับ (ตอนที่ Toshiba ประสบวิกฤติเกือบล้มละลาย ก็มีคนถาม Toshiba กันเลยว่าซาซาเอะซังจะได้สร้างต่อไหม? ล่าสุดก็คือได้ Nissan มารับไม้เป็นสปอนเซอร์หลักต่อในปีนี้ครับ) ส่วนของโตเอะนี่ไม่ต้องคิดเลยครับ เราแทบจะเห็นเงา BANDAI ตามเกาะหลังโตเอะมาแทบจะทุกเรื่อง ซึ่งอนิเมเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องทำเรตติ้งให้ได้สูงๆ จะได้มีสปอนเซอร์เข้าจนสามารถออกอากาศได้อย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งแน่นอนครับว่า พวกที่ติด Top 10 ในตารางเรตติ้งของญี่ปุ่นก็ล้วนแต่อยู่ในกลุ่มนี้หมด
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าอนิเมทีวีซีรีส์ทุกเรื่องจะอยู่ในกลุ่มนี้หมดนะครับ อนิเมที่ออกอากาศทาง NHK นั้นจะอยู่นอกเหนือจากกฎนี้ เพราะมีรายรับจากช่องทางอื่น (NHK ไม่มีโฆษณา) ซึ่งหลายๆ คนอาจจะมองว่า NHK จะทำแต่อนิเมเด็กเป็นหลักหรือเปล่า แต่อนิเมอย่าง Cardcaptor Sakura ,Giant Killing ,Major , Nadia: The Secret of Blue Water หรือกระทั่งนินจารันทาโร่และบาคุแมนก็เป็นอนิเมที่ออกอากาศทาง NHK นะครับ ซึ่งการทำอนิเมออกอากาศทาง NHK ก็จะมีข้อดีคือทีมงานสามารถทุ่มเทไปกับการทำอนิเมได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพะวงเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก ขอให้งานทำออกมาดีมีคุณภาพเป็นพอ
อนิเมขายของเล่น และธุรกิจเมอร์เชนไดส์
ตอนที่ผู้กำกับโทมิโนะทำกันดั้มภาคแรก ก็ต้องปวดหัวกับการเอาใจสปอนเซอร์ไม่น้อย แต่พอถึงยุค 90 ที่บริษัทซันไรส์ผู้ผลิตอนิเมกันดั้มโดนบริษัทบันไดยักษ์ใหญ่วงการของเล่นควบรวมกิจการไปอยู่ในเครือบันไดในฐานะบริษัทลูก ก็ทำให้ปัญหาเรื่องสปอนเซอร์หมดไป แต่ก็ต้องยอมรับกับการทำอนิเมกันดั้มเพื่อรองรับตลาดกันพลาด้วย ในช่วงหลังๆ ที่เราเห็นซันไรส์ใจดี อัพโหลดอนิเมกันดั้มให้เราดูฟรีแบบถูกลิขสิทธิ์กันหลายภาค บางภาคก็ใจดีมีซับไทยให้ด้วย ก็เพราะเขาต้องการเน้นขายกันพลาให้มากขึ้น อย่างภาค GBF หรือ GBD ที่เป็นภาคที่เน้นขายกันพลาก็จะมีกันพลาใหม่ๆ ออกมาให้เราซื้อกันแทบจะทุกตอน แม้ว่าบางตัวอาจจะมีบทน้อยจนคาดไม่ถึงก็ตาม
ซึ่งกันดั้มนั้นก็เป็นเคสหนึ่งในอีกหลายๆ เคสของอนิเมกลุ่มนี้เท่านั้น เพราะปัจจุบันการขายสินค้าจากอนิเมนั้นมันไกลเกินกว่าเป็นแค่ของเล่น แต่กลายเป็นของสะสมรวมไปถึงสินค้าเมอร์เชนไดส์ต่างๆ ซึ่งในยุคหลังๆ เราจะได้ยินคำว่า Media Mix กันมากขึ้น การ์ตูน 1 เรื่องอาจจะเป็นได้ทั้งการ์ตูนทีวี หนังสือการ์ตูน เกม ของเล่น และอื่นๆ อย่าง SAO ก็เริ่มมาจากไลท์โนเวล มาเป็นการ์ตูนทีวี หนังสือการ์ตูน หนังโรง เกม สินค้าคาแรกเตอร์และอื่นๆ มากมาย ที่สามารถทำรายได้กลับมาสู่ผู้ผลิต(เจ้าของลิขสิทธิ์)ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง (ทั้งผลิตเองและขายสิทธิ์ให้ผู้อื่น)
ตัวอย่างที่เห็นชัดในบ้านเราก็อย่างเช่น AI THAILAND ที่ถือลิขสิทธิ์โดราเอม่อน หรือกลุ่ม TRUE ที่ถือลิขสิทธิ์โปเกม่อนอยู่นี่แหละครับ เราจะเห็นเลยว่า บ้านเรามีงาน event โดราเอม่อนและโปเกม่อนบ่อยมาก (อย่างน้อยๆ วันเด็กทุกปีต้องมี) และมีสินค้าให้เลือกซื้อหากันเยอะแม้กระทั่งใน 7-11 เพราะการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ที่ดีนี่แหละครับ
เพื่อต่อยอดและโปรโมต
ต่อจากประเด็นเรื่องเมอร์เชนไดส์ ทำให้บางครั้ง การ์ตูนทีวีก็ไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของการ์ตูน 1 เรื่อง การ์ตูนทีวีบางเรื่องถูกทำขึ้นมาเพื่อต่อยอดและสร้างกระแสเพื่อขายของอย่างอื่น อาทิเช่น การ์ตูนอนิเมที่สร้างฉายทีวีเพื่อที่จะผลักดันยอดขายการ์ตูนหรือนิยาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการ์ตูนที่ออกอากาศหลังเที่ยงคืนเพราะมีค่าแอร์ไทม์(รวมถึงค่าใช้จ่ายในการออกอากาศ)ที่ถูกกว่าเวลาปกติหรือไพร์มไทม์ ซึ่งถ้าเกิดอนิเมดัง แผ่นขายดี มีกระแส ก็ถือเป็นผลพลอยได้ที่นำไปต่อยอดได้อีก แต่ถ้าอนิเมไม่ดัง มันก็ทำหน้าที่ในการโปรโมตต้นฉบับของมัน (นิยาย/การ์ตูน/เกม) ลุล่วงตามเป้าประสงค์ของต้นสังกัดแล้ว
เน้นคุณภาพขายแผ่นกันตรงๆ ไปจนถึงหนังโรง
รายได้อีกทางหนึ่งของผู้ผลิตอนิเมตั้งแต่ยุค 80 เป็นต้นมาก็คือ การขายแผ่น หรือถ้าสมัยก่อนก็คือ การขาย VDO ซึ่งธุรกิจ VDO เริ่มบูมมาตั้งแต่ยุค 80 และทำให้ตลาดอนิเมเติบโตอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ต้องทำอนิเมเพื่อเอาใจสปอนเซอร์ฉายทางทีวีอย่างเดียว การมีธุรกิจ VDO มาช่วยรองรับก็ช่วยให้คนทำอนิเมสามารถทำอะไรที่ตอบสนองผู้ชมโดยตรงได้มากขึ้น อนิเมหลายๆ เรื่องที่เรารู้จักกันดีก็ไม่ได้โด่งดังจากตอนฉายทีวี แต่มาประสบความสำเร็จในตลาด VDO จนมาถึงยุค LD DVD และบลูเรย์ในปัจจุบัน (ส่วน VCD ที่บ้านเราใช้กัน ไม่มีที่ญี่ปุ่นนะครับ) ซึ่งถ้าเรื่องไหนยอดขายดี โอกาสที่จะมีภาคต่อก็สูงโดยไม่ต้องง้อเรตติ้งทีวี แถมยังมีสิทธิ์ทำเป็นหนังโรง ที่ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าด้วย
เราจะเห็นได้ว่า อนิเมที่ยอดขายแผ่นดีๆ ในปัจจุบัน มักจะไม่ใช่อนิเมเรตติ้งดี ซึ่งเป็นเพราะอนิเมทั้งสองกลุ่มมีเป้าหมายคนละตลาดกันอย่างชัดเจน แต่ก็มีเหมือนกัน ที่แผ่นก็ขายดี เรตติ้งทีวีก็ดีด้วย ซึ่งในช่วงยุค 1990 ถึง 2000 ยังพอมีอยู่ แต่ตอนนี้แทบไม่เห็นแล้ว
ในปัจจุบัน แม้ธุรกิจ DVD จะเริ่มหดตัวลง (บางประเทศนี่เรียกได้ว่าล่มสลายยังได้เลย) แต่การเติบโตของธุรกิจ Subscription Video on Demand (SVOD)อย่าง NETFLIX LINE TV หรือพวก AIS PLAYBOX ก็กลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่หลายๆ คนจับตามอง ยิ่งหลังๆ NETFLIX กระโดดลงมาเป็นนายทุนผลิตอนิเมเองเลยก็ดี แต่ก็ต้องดูกันยาวๆ ครับ เพราะอุตสาหกรรมนี้แข่งกันดุเดือดเหลือเกิน
รายได้จากปาจิงโกะเนี่ยนะ?
เชื่อไหมครับว่า ธุรกิจหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอนิเมและมีมูลค่าการตลาดสูงแบบไม่น่าเชื่อ ก็คือธุรกิจตู้ปาจิงโกะอนิเมและตู้สล็อตแมชชีนอนิเม ที่ในปี 2016 นั้น มีมูลค่าสูงถึงสองแสนแปดหมื่นล้านเยน! ในขณะที่ธุรกิจ DVD และบลูเรย์อนิเมปี 2016 อยู่ที่หกหมื่นหกพันล้านเยน และอนิเมหนังโรงอยู่ที่เจ็ดหมื่นแปดพันล้านเยน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ตลาดตู้ปาจิงโกะอนิเมนี่ใหญ่กว่า DVD กับหนังโรงรวมกันเสียอีก! นี่นับเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับอนิเมด้วยนะ (ก็ว่า ค่ายเกมบางค่ายถึงได้รักธุรกิจปาจิงโกะเสียยิ่งกว่าธุรกิจเกมของตัวเองเสียอีก)
(ภาพประกอบจาก soranews24.com )
บอกตามตรงครับว่า เรื่องปาจิงโกะนี่เป็นโลกที่ผมเข้าไม่ถึงจริงๆ เป็นตลาดที่จำกัดเฉพาะคนญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นก็ชอบปาจิงโกะกันจริงๆ นะ เห็นเล่นกันได้ทั้งวันเลย
เน้นขายต่างประเทศ ทำกำไรไม่รู้จบ
สมัยก่อน อนิเมญี่ปุ่นไม่เน้นขายตลาดต่างประเทศมากนัก แต่ในยุคหลังนี่ตลาดต่างประเทศแทบจะเป็นรายได้หลักของอนิเมหลายๆ เรื่องไปแล้ว ซึ่งถ้าหากเป็นในยุค 90 ตลาดใหญ่ของอนิเมญี่ปุ่นก็อยู่ในเอเซียนี่แหละ แต่พอขึ้นศตวรรษที่ 21 อนิเมญี่ปุ่นก็ขยายตลาดไปยังประเทศตะวันตกอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะดราก้อนบอลกับนารูโตะที่มีมูลค่าทางการตลาดในต่างประเทศสูงมาก โดยในปี 2002 มูลค่าตลาดอนิเมในต่างประเทศโดยรวมนั้นอยู่ที่สามแสนเจ็ดหมื่นล้านเยน แต่พอปี 2015 มูลค่ากลับเพิ่มสูงถึงห้าแสนแปดหมื่นล้านเยน และพอปี 2016 มูลค่ากับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นเจ็ดแสนหกหมื่นล้านเยน และกลายเป็นแหล่งรายได้ที่เติบโตสูงสุดด้วย (ในขณะที่รายได้จากกลุ่มทีวี ดีวีดี และธุรกิจเมอร์เชนไดส์หดตัวลง)
จุดที่น่าสนใจก็คือ ตลาดอนิเมนอกประเทศญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันกลายเป็นประเทศจีนครับ รองลงมาคือเกาหลีใต้ ไต้หวัน และอเมริกาตามลำดับ ส่วนประเทศไทยที่เคยมีตลาดอนิเมลิขสิทธิ์ติดอันดับต้นๆ มาหลายปีในตอนนี้ร่วงไปอยู่อันดับที่ 11 แล้วครับ และดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มลดลงกว่าเดิมด้วย ส่วนเป็นเพราะอะไรนั้นผมว่าก็น่าจะพอรู้ๆ กันอยู่นะ
แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดหรอกนะ
พอมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะคิดว่า ตลาดอนิเมญี่ปุ่นนั้นช่างใหญ่โตเสียจริง โดยในปี 2016 นั้น มูลค่าอุตสาหกรรมการ์ตูนอนิเมญี่ปุ่นพุ่งไปถึงหลักสองล้านล้านเยนแล้ว แต่ในความเป็นจริง ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กลับมีข่าวสตูดิโออนิเมปิดตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลายบริษัทถึงขั้นล้มละลายกันเลยทีเดียว
ในปี 1980 ญี่ปุ่นมีอนิเมออกอากาศทางทีวีทั้งหมด 61 เรื่อง พอมาปี 2000 เพิ่มขึ้นเป็น 109 เรื่อง และพอมาถึงปี 2016 มีอนิเมทีวีซีรี่ส์ออกอากาศมากถึง 356 เรื่อง! กลายเป็นว่าในยุคที่อัตราการเกิดของประชากรญี่ปุ่นลดลง กลับมีอนิเมออกมาให้ชมกันมากขึ้นจนดูกันไม่ทัน ถึงขนาดที่ มิสึชิมะ เซย์จิ ผู้กำกับอนิเมชื่อดัง ต้องออกมาบ่นว่า ตอนนี้มีอนิเมออกสู่ตลาดเยอะเกินไปแล้ว ตอนนี้มีอนิเมออกมาล้นตลาดเสียจนแฟนๆ ไม่สามารถที่จะดูได้ทั้งหมด แถมสตูดิโอยังโหลดงานเกินไปอีก
ในขณะที่เรามีอนิเมออกมามากถึง 356 เรื่องในปี 2016 (ไม่รวม OVA และหนังโรง) แต่เรื่องที่เรียกว่าประสบความสำเร็จจริงๆ ในแต่ละปีกลับมีไม่ถึง 20 เรื่อง แล้วผลงานที่เหลือล่ะ? ความสำเร็จที่กระจุกตัวอยู่แค่ยอดของปิรามิดมันทำให้มีอนิเมจำนวนมากที่ขาดทุน ไม่มีคนดู ขายไม่ออก มีอนิเมจำนวนมากที่ไม่มีสินค้าเมอร์เชนไดส์ ไม่ได้ขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ ไม่มีธุรกิจอะไรต่อยอดตามมา และเรื่องที่พอจะขายได้ก็ยังโดนปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาอีก และคนที่เจ็บหนักที่สุดก็คือสตูดิโอรายย่อยและคนตัวเล็กๆ ในวงการอนิเมนั่นแหละครับ
NHK รายงานว่า ปัจจุบัน สตูดิโออนิเมชั่นของญี่ปุ่น กว่า 1 ใน 4 ตกอยู่ในสภาวะขาดทุนอย่างหนัก อนิเมเตอร์(ส่วนงาน In-Between) มีรายได้เฉลี่ยแค่เดือนละ 60,000 เยน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยเงินเดือนเริ่มต้นของเด็กจบ ม.ปลายที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 164,894 เยน ทำให้ปัจจุบัน อนิเมเตอร์รุ่นใหม่ ไม่สามารถทนทำงานในสายนี้ได้ ด้วยเหตุผลที่ค่าแรงงานต่ำแถมยังต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ และมักจะออกจากงานภายใน 3 ปี
ด้วยวิกฤติที่เกิดขึ้น สังเกตได้เลยว่าในช่วงหลังๆ ทางญี่ปุ่นเริ่มจะมีแคมเปญรณรงค์เรื่องลิขสิทธิ์ออกมามากขึ้น ถึงขั้นที่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกมาร่วมมือกับผู้ผลิตอนิเมและคอมมิคทำแคมเปญที่ชื่อ M.A.G. (Manga-Anime Guardians) เมื่อปี 2014 เพื่อรณรงค์เรื่องลิขสิทธิ์กันอย่างจริงจัง ซึ่งหลายๆ คนอาจจะเคยเห็นแคมเปญนี้ผ่านตากันไปบ้างแล้ว
ทว่าถึงแม้วงการอนิเมของญี่ปุ่นจะไม่ได้สวยหรู โดยเฉพาะสตูดิโอขนาดเล็กจำนวนมากที่ยังอยู่ในความเสี่ยง เพราะไม่ได้มีช่องทางทำตลาดมากเหมือนค่ายใหญ่ๆ แต่ทุกวันนี้คนทำอนิเมก็ยังคงพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลงานอนิเมออกมาให้ชมกันตามศักยภาพที่มีอยู่ แน่นอนครับว่าก็มีทั้งเรื่องที่เราชอบ และเรื่องที่เราไม่ชอบ หากเราชอบเรื่องไหน ก็ช่วยกันสนับสนุนผลงานที่เราชอบกันเยอะๆ ครับ ผมคิดว่าในสมัยนี้เรามีวิธีสนับสนุนคนทำงานได้หลากหลายช่องทางมากขึ้นกว่าสมัยก่อน เหล่าครีเอเตอร์จะได้มีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ออกมาให้ได้ชมกัน
เพราะเบื้องหลังผลงานอนิเมที่เราได้ชมกันนั้น มีทั้งรอยยิ้มและคราบน้ำตาของทีมงานแฝงอยู่ทุกเรื่องครับ
ข้อมูลตัวเลขและสถิติในบทความนี้ อ้างอิงจาก Anime Industry Report 2017 (The Association of Japanese Animations) (เผยแพร่ : มกราคม 2018)