[COMIC REVIEW] ยอดนินจาอาราชิ X : ฮีโร่ 70 ที่ตีความใหม่โดยนักเขียนยุค 90

สำหรับรีวิวคอมมิคเรื่องนี้ สืบเนื่องจากตอนที่ทำคลิปส่งท้ายงานสัปดาห์หนังสือฯ กับ บก.เก่ง แล้วแกให้คอมมิคเรื่องนี้มาอ่านเล่น ซึ่งพูดกันตามตรงแล้วมันเป็นการ์ตูนที่เด็กรุ่นนี้คงไม่สนใจกัน แต่น่าจะเตะตาคนรุ่นผมอยู่ไม่น้อย เพราะมันเป็นการ์ตูนฮีโร่ยุค 70 เรื่องดังที่เคยฉายในไทยถึงสองรอบ แล้วถูกนักเขียนชื่อดังในยุค 90 อย่าง อ.นิวาโนะ มาโคโตะ มาเขียนใหม่ และทำออกมาได้น่าสนใจพอสมควรทีเดียวครับ

ก่อนอื่น ผมคงต้องแนะนำเจ้า นินจาอาราชิ ให้รู้จักกันก่อน นินจาอาราชิ หรือ Henshin Ninja Arashi เป็นหนังฮีโร่แปลงร่างสไตล์ญี่ปุ่นย้อนยุคในสมัยเอโดะ ที่ อ.อิชิโนโมริ โชทาโร่ ผู้ให้กำเนิดไรเดอร์ซีรี่ส์ออกแบบขึ้นและเคยเขียนเป็นคอมมิคก่อนที่จะถูกนำไปสร้างเป็นทีวีซีรี่ส์คนแสดงในปี 1972 และถูกนำมาฉายในบ้านเราครั้งแรกในชื่อ “นินจาจอมคาถา” ทางช่อง 4 บางขุนพรหม (ช่อง 9 ในปัจจุบัน) แต่ฉายไม่จบด้วยเหตุผลบางประการ (เข้าใจว่าน่าจะมาจากกระแสต้านญี่ปุ่นในยุคนั้นที่ทำให้รายการทีวีญี่ปุ่นหายไปจากหน้าจออยู่พักใหญ่ๆ) และหลังจากนั้นราวสิบปีก็ถูกนำมาฉายใหม่ทางช่อง 7 ในชื่อ “นินจาอาราชิ” ซึ่งตอนฉายครั้งหลัง ผมจำไม่ได้ว่าฉายจบหรือเปล่า เพราะจริงๆ มันก็นานหลายสิบปีแล้ว (จำไม่ได้ว่างั้นเถอะ) แต่มีทำเพลงภาษาไทยออกมาขายในอัลบั้มเพลงดังหนังเด็กชุด 3 และสมัยเด็กๆ ผมมักจะเรียกอาราชิว่า นินจาไก่ เพราะชุดมันดูเหมือนไก่จริงๆ แม้จริงๆ แล้วมันจะมีดีไซน์มาจากเหยี่ยวก็ตาม

ส่วนเวอร์ชั่นคอมมิคที่บุรพัฒน์ทำออกมานี้ เป็นฉบับตีความใหม่ที่เขียนโดย นิวาโนะ มาโคโตะ ผู้เขียนการ์ตูนชุด “ลุยแหลกฯ” ที่ตอนนี้ก็มีพิมพ์ใหม่+ภาคต่อออกมาให้อ่านกันอยู่ ซึ่งใช้ชื่อว่า Henshin Ninja Arashi X(ไค) โดยโครงเรื่องนั้นก็คล้ายๆ กับเวอร์ชั่นต้นฉบับ แต่มีการดัดแปลงตีความให้ดูมีเรื่องราวมากกว่าการเป็นหนังฮีโร่แปลงร่าง โดยผูกเรื่องเข้ากับความขัดแย้งในตระกูลโตกุกาวะ ไปจนถึงตระกูลซานาดะ เชื่อมโยงเข้ากับบุคคลจริงที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์หลังยุคเซ็นโกคุมากกว่าเวอร์ชั่นดั้งเดิม โดยเหตุการณ์ในการ์ตูนชุดนี้จะเริ่มต้นขึ้นก่อนที่จะมีการทำศึกเซกิงาฮาระที่คอการ์ตูนหลายๆ คนรู้จักกันดีนั่นเอง

ผลงานของ อ.นิวาโนะ จะขาดสาวๆ โนตมไม่ได้เลย

สำหรับโครงเรื่องก็ยังคงคล้ายๆ กับของเดิม คือ พรรคกงจักรโลหิต ได้บังคับให้ จ้าวสายลมคิจู ใช้คาถาดัดแปลงมนุษย์สร้างนินจากอสูรจำแลงจากซากศพของทหารฝ่ายโตกุกาวะและฝ่ายอิชิดะ ทว่าคิจูกลับหนีออกมาจากพรรคกงจักรโลหิตพร้อมกับลูกชายชื่อฮายาเตะที่ถูกดัดแปลงร่างกายให้เป็นนินจาแปลงร่างอาราชิที่เก่งกาจและต่อกรกับพวกพรรคกงจักรโลหิตเพื่อตามหาบิดาที่หายสาบสูญไป

ต้องยอมรับว่า อ.นิวาโนะสามารถนำเอาเนื้อเรื่องดั้งเดิมของนินจาอาราชิ ของ อ.อิชิโนโมริ มาดัดแปลงให้เข้ากับการ์ตูนสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กระแสการ์ตูน-เกม ยุคเซ็นโกคุกำลังมาแรง แตในอีกมุมหนึ่ง ผมก็ยังรู้สึกว่า อ.นิวาโนะยังติดกับความเป็นผู้เขียน “ลุยแหลกฯ” มากไปหน่อย ใบหน้าตัวละครบางตัวตัวก็คล้ายกับ “ลุยแหลกฯ” ไปนิด รวมถึงอิทธิพลในฉากต่อสู้บางฉากที่ดูแล้วนึกถึงการ์ตูนลุยแหลกฯ มากกว่าที่จะเป็นการ์ตูนฮีโร่แปลงร่างแบบที่แฟนการ์ตูนรุ่นเก่าคุ้นเคย ส่วนการเดินเรื่องนั้นก็ถือได้ว่ากระชับและรวดเร็วดีมาก เพราะการ์ตูนเรื่องนี้มีความยาวแค่สองเล่มจบเท่านั้นเอง

เวอร์ชั่นนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับตระกูลโตกุกาวะด้วย

ในส่วนของคอมมิคฉบับภาษาไทยนั้น ทางบุรพัฒน์เลือกที่จะจัดทำในรูปแบบไซส์พิเศษ พิมพ์ด้วยกระดาษกรีนรี้ด และขายในราคา 150 บาท ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างสูงพอสมควร แต่คุณภาพการพิมพ์ก็ถือว่าดีครับ หมึกดำเต็มๆ เข้มๆ กระดาษก็ถือว่าเนื้อแน่น แต่จะมีจุดหนึ่งที่ต่างจากต้นฉบับญี่ปุ่นก็คือ ในเล่มญี่ปุ่นนั้นจะมีการ์ตูนแถมสั้นๆ เรื่อง Chojin Barom One ฉบับตีความใหม่มาให้อ่านกันด้วย แต่ฉบับไทยไม่ได้ตีพิมพ์ออกมาเพราะเข้าใจว่าติดเรื่องลิขสิทธิ์ที่ซ้อนกันอยู่ (ปกติการ์ตูนเก่ามาเขียนต่อแบบกรณีนี้ มักจะมีลิขสิทธิ์ที่ซ้อนทับกัน อย่างนินจาอาราชินอกจากเราจะต้องซื้อลิขสิทธิ์จากทางสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นต้นสังกัดของผู้เขียนแล้ว ทางสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นก็ต้องไปเคลียร์ลิขสิทธิ์กับเจ้าของเรื่องต้นฉบับที่แท้จริงคืออิชิโนโมริโปรให้อีกต่อหนึ่งด้วย แต่เรื่องบารอมวันนั้นที่ผมเข้าใจคิอ ติดที่ผู้ถือลิขสิทธิ์รายอื่น เพราะบารอมวันไม่ใช่ผลงานของอิชิโนโมริโปรด้วย ซึ่งก็อาจจะติดขัดปัญหาอะไรที่เราไม่ทราบตามมาอีก ตรงนี้ก็น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน เพราะบารอมวันนั้นก็เป็นหนังฮีโร่ปี 1972 ปีเดียวกับอาราชินั่นแหละครับ)

เวอร์ชั่นนี้เน้นเรื่องประวัติศาสตร์มากกว่าสัตว์ประหลาดเสียอีก ซึ่งท้ายเล่มมีเกร็ดอธิบายไว้ด้วย

โดยสรุปก็คือ การ์ตูนเรื่องนี้ อาจจะไม่ถูกใจเด็กรุ่นใหม่มากนัก เพราะต้องยอมรับว่าผลงานเรื่องนี้เป็นการ์ตูนดักแก่กันตั้งแต่ยุคช่อง 4 บางขุนพรหมกันเลยทีเดียว (ตอนนั้นบ้านผมยังดูทีวีขาวดำอยู่เลย) และคนที่เป็นแฟนผลงาน อ.นิวาโนะส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นวัยรุ่นยุค 90 ด้วย เรียกได้ว่างานนี้ดักแก่กันถึงสองวัย แต่ในความเป็นจริง การ์ตูนนั้นไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนทางด้านกาลเวลาที่ชัดเจนหรอกครับ ถ้าหากการ์ตูนมันสนุกจริง ผมว่าไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนก็อ่านได้ ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ก็ตอบโจทย์ความสนุกได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคนที่เคยได้ยินหรือรู้จักนินจาอาราชิมาก่อน ก็น่าจะอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ได้สนุกขึ้นครับ