Where We Belong การข้ามผ่านเด็กสาวที่ถูกตัดตอน (บทความสปอยล์เนื้อหาสำคัญ)

(ย้ำอีกครั้ง บทความนี้มีสปอยล์เนื้อหาสำคัญ เพราะไม่รู้จะเลี่ยงยังไงจริงๆ)

Where We Belong เป็นหนังไทยอีกเรื่องหนึ่ง ที่ใช้บริการนักแสดงนำจากวงไอดอลชื่อดัง BNK48 ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะหนังเรื่องนี้ ทาง BNK48 ลงทุนสร้างเอง โดยใช้บริการผู้กำกับภาพยนตร์แนวอินดี้ชื่อดังอย่าง คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่เรื่องนี้คุณคงเดชเขียนบทเองด้วย

แน่นอนครับว่า หนังสไตล์คุณคงเดชนั้น มักจะซ่อนสัญญะเอาไว้มากมาย ซึ่งต่างคนต่างก็ตีความกันไปได้หลายทิศทาง (โดยเฉพาะเรื่องการเมือง) แต่โดยส่วนตัวของผม นี่คือเรื่องราวของเด็กกำพร้าสองคน คือซู (เจนนิส) และ เบล(มิวสิค) ที่กำลังจะก้าวข้ามผ่านวัยรุ่นอันแสนซับซ้อน ไปด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป

ตัวหนังโฟกัสไปที่ซู ลูกสาวร้านก๋วยเตี๋ยว ที่ต้องการจะออกจากชีวิตแบบเดิมๆ ด้วยการสอบชิงทุนไปต่างประเทศ และเธอก็สามารถชิงทุนไปเรียนต่อที่ฟินแลนด์ตามที่ฝันได้ แม้เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ที่ฟินแลนด์มีอะไร เธอไม่เคยเดินทางไปไหน ไม่เคยขึ้นเครื่องบิน ไม่เคยไปต่างประเทศด้วยซ้ำ

ในอีกด้านหนึ่ง ที่บ้านของเธอเปิดร้านก่วยเตี๋ยว และยังเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงซึ่งสืบทอดต่อกันมาในจังหวัด และการทำก๋วยเตี๋ยวก็ยังเป็นสิ่งที่เธอถนัดเพียงอย่างเดียวด้วย (ถึงเธอจะเป็นคนชวนเพื่อนตั้งวงดนตรี แต่ตัวเธอกลับเล่นดนตรีไม่เป็น) สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้ตั้งแต่ต้นเรื่องตัวหนังพยายามที่จะบอกว่า เธออยากจะออกจาก “เซฟโซน” ของเธอ เธอบอกเพื่อนๆ ว่า เธอไม่ชอบกลิ่นก๋วยเตี๋ยวที่ติดเสื้อ แต่พอเพื่อนสนิทอย่างเบลเถียงเรื่องนี้แทนเธอ เธอกลับโกรธ และบอกว่าเบลเสือกชีวิตของเธอ

อันที่จริง เส้นทางชีวิตของซูนั้นเริ่มผิดเพี้ยน ตั้งแต่ที่แม่เธอเสียชีวิต ซึ่งแม่ของเธอ ทำเรื่องบริจาคอวัยวะเอาไว้ โดยที่คนในครอบครัวไม่ทราบเรื่อง เพราะแม่ของซูนั้น “ปลอมลายเซ็น” ของสามี (ขจรศักดิ์) หัวใจของแม่เธอจึงถูกนำเอาไปบริจาคให้คนอื่น โดยที่เธอได้แต่มองเจ้าหน้าที่ขนกล่องใส่หัวใจของแม่เดินจากไป แม้เธอจะร้องไห้ทัดทานพ่อของเธอให้คัดค้านเรื่องนี้แล้วก็ตาม

ซึ่งนั่นอาจจะเป็นจุดที่ทำให้ซูรู้สึก “ต่อต้านพ่อ” และคิดจะออกไปจากที่ที่เคยอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่รั้งเธอไว้ คือซูยังคิดว่าแม่ของเธอนั้นยังอยู่ที่นี่ เพราะหัวใจของแม่เธอยังอยู่ในร่างของผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ซึ่งซูเองก็รู้มาตลอดว่าเป็นใคร เพราะเราจะเห็นผู้หญิงคนนั้นตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ (ทว่าในความเป็นจริง โดยจรรยาบรรณแพทย์แล้ว เราจะไม่รู้ว่าอวัยวะที่บริจาคไปอยู่กับใคร และซูก็ไม่น่าไปเอาผลการตรวจของคนอื่นมาครอบครองได้ ซึ่งจุดนี้ผมยังสงสัยอยู่ว่าซูไปเอามาได้ยังไง) ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดที่ทำให้ตัวเธอ “สับสน” ว่าตัวเธอต้องการจะอยู่ หรือต้องการจะไป และที่ไหนกันแน่ที่เป็น “บ้าน” ที่เธออยากอยู่ (ซึ่งประเด็นนี้ ตอกย้ำด้วยรอยสักของซู ที่บอกว่าสิ่งที่ซูต้องการแท้จริงคืออะไร)

ในขณะที่เบลนั้น ก็เป็นเด็กกำพร้าที่พ่อแม่แยกทางกันอยู่ โดยตัวเบลอยู่กับพ่อ และมีหน้าที่คอยดูแลย่าที่เริ่มสูงวัยจนเลอะเลือน แต่ย่าของเบลก็มีความฝังใจกับ “กานต์” ชายหนุ่มข้างบ้าน ที่เคย “จับนม” และจูบ แต่สุดท้ายกานต์ก็หายไป(โดยที่ตัวหนังไม่ได้บอกว่า กานต์หายไปไหน) และย่าก็แต่งงาน โดยในรูปแต่งงานของย่าไม่ปรากฎรอยยิ้มเลย และจากสิ่งที่ย่าแสดงออกมาตอนเริ่มเลอะเลือน นั่นแสดงให้เห็นว่า ตัวย่าเองยัง “ฝังใจ” กับความรักครั้งแรกมาก และแน่นอนว่า เรื่งนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึงนัก อย่างที่พ่อของเบลบอกว่า “อายเด็กมัน” นั่นแหละ

ย้อนกลับมาที่ฝั่งแม่ของเบล ที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ มีรายได้ และมีไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง ซึ่งแม่ของเบลก็ต้องการให้เบลล์เป็นแบบตน แต่ก็เหมือนกับพ่อของซู คือทั้งพ่อซูและแม่เบลไม่เคยถามลูกเลยว่า ลูกต้องการอะไร อยากโตขึ้นเป็นคนแบบไหน ทั้งเบลและซู จึงมีกระบวนการ “ต่อต้าน” ผู้ปกครองด้วยวิธีที่แตกต่างกัน เบลอาจจะทิ้งข้าวของที่แม่ซื้อให้ ส่วนซูนั้นอยากจะออกไปจากชีวิตพ่อ ออกจากโลกเดิมๆ ไปสู่โลกภายนอกที่เธอไม่รู้จักและคิดว่า “มันน่าจะดีกว่า”

ถ้าหากซูตัดสินใจที่จะ “ปลอมลายเซ็น” ของพ่อแต่แรก เธอก็จะได้สิทธิ์ที่จะไปเรียนต่อทันที และหนังเรื่องนี้ก็จะจบลงในครึ่งชม. แต่ที่เธอลังเลเพราะเธอเข้าใจความเจ็บปวดตอนที่แม่ของเธอปลอมลายเซ็นพ่อเพื่อบริจาคอวัยวะดี เธอจึงพยายามที่จะบอกว่า เธออายุ 18 แล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้วนะ ไม่ต้องใช้ผู้ปกครองได้ไหม ซึ่งตัวหนังพยายามย้ำจุดนี้อยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเรื่องการเลือกตั้ง หรือเรื่องเที่ยวกลางคืน

แต่สุดท้าย เรื่องราวก็พลิกผันรอบแรก เมื่อซูได้พบกับตัวละครใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลในชีวิต นั่นก็คือ “คนทรง” ซึ่งแน่นอนว่า แต่แรกนั้นเธอไม่เชื่อ และตัวหนังก็มีการตอกย้ำเรื่องของความเชื่อศรัทธาในสังคมไทยที่ผิดเพี้ยนมาตลอดเรื่องด้วย แต่พอถึงจุดหนึ่งเธอกลับเชื่อแบบง่ายๆ เพราะความโหยหา “แม่” กลายเป็นปมในใจที่ทำให้เธออ่อนไหวขาดที่พึ่งในใจ และทำให้ซูตัดใจเลิกคิดที่จะไปฟินแลนด์ และเรื่องก็เกือบจะจบลงแบบนั้น ก่อนที่เธอจะสติแตกไปกับพฤติกรรมของผู้หญิงที่ครอบครองหัวใจของแม่ และความจริงเรื่องคนทรง ที่ทำให้เธอสติแตกซ้ำสองราวกับถูกจับเหวี่ยงภายในเวลาชั่วข้ามคืน ซึ่งสังเกตว่า ซีนที่เธอเล่นเครื่องเล่นปลาหมึกในสวนสนุกนั้น เบลหายไปเลย

เมื่อสิ้นสูญสิ่งยึดเหนี่ยวสุดท้าย สิ่งที่เรารับรู้คือ ซูไม่สามารถทนอยู่ที่นี่ได้อีก เราไม่รู้ว่าซูหายไปไหน เรารู้แต่ว่าซูหายไปเหมือนกับตอนที่กานต์หายไป เราเห็นซูครั้งสุดท้ายในที่ที่เคยเป็นบ้านของกานต์ รูปแม่ของซูก็หายไป แต่ทุกคนก็ต้องดำเนินชีวิตต่อไป ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ไม่มีซูก็ต้องไปต่อ เบลก็ต้องดูแลย่าต่อ และปล่อยให้ผู้ชมจินตนาการต่อว่า ซูหายไปไหน…

ซึ่งจริงๆ แล้ว ในหนังเรื่องนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมาย ตั้งแต่ความสัมพันธ์ของเบลและซู ที่เหมือนส่วนเติมเต็มของกันและกัน และบางครั้ง ผมก็รู้สึกว่า เบลทำตัวเหมือนเป็นแม่ที่คอยดูแลปกป้องซูทุกอย่าง จนบางทีซูก็รู้สึกต่อต้านที่เบลเข้ามา “เสือก” (ในหนังใช้คำนี้จริงๆ) ชีวิตของเธอมากเกินไป ในขณะที่ที่ซูเอง ก็ต้องทำหน้าที่เป็นแม่คอยดูแล “ซัน” น้องชายที่กำลังจะกลายเป็นน้องสาว ไปจนถึงเรื่องราวของ “มิว” (อร BNK) เพื่อนของซู ที่โกรธกันชนิดไม่มีทางญาติดีกันโดยไม่รู้สาเหตุ (แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง เหมือนซูจะรู้สาเหตุแต่ไม่พูดออกมาตรงๆ ให้คนดูได้ขบคิดกันเอง) ซึ่งสไตล์หนังของคุณคงเดช จะมีการทิ้งปมบางอย่างไว้ให้คนได้ขบคิดและจินตนาการกันต่อ แต่ทุกปมก็จะมีเชื่อมโยงกันอยู่อย่างจางๆ เหมือนมีน้ำหนักและเหตุผลที่แฝงประเด็นบางอย่างเอาไว้ และเกิดข้อถกเถียงขึ้นมาอย่างมากมายตามมา

แน่นอนครับ ถ้าอยากจะชมหนังรักวัยรุ่นใสๆ หนังมิตรภาพวัยรุ่นฟีลกู๊ด ไปจนถึงหนังเลสเปี้ยน บอกเลยครับว่าเรื่องนี้ “ไม่ใช่” อย่างที่คิดแน่นอน แต่มันก็เป็นหนังที่ผมอยากดูซ้ำเพื่อเติมเต็มข้อสงสัยในหลายๆ จุด เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาที่ช่วงนี้หนังเข้าฉายเยอะเหลือเกิน ก็คงต้องเก็บไว้ดูซ้ำตอนลง Netflix ละกันครับ

ปล.ซีนเล็กๆ ที่ผมชอบซีนหนึ่งก็คือ ซีนในร้านหนังสือเช่าของ หยก (ฝ้าย BNK) ตรงรายชื่อการ์ตูนออกใหม่ แอบเห็นเรื่อง “15 หยกๆฯ” ด้วย เป็นหนึ่งในไม่กี่ซีนที่เรียกเสียงหัวเราะจากผมในหนังเรื่องนี้

ปล 2. ภาพประกอบ นำมาจากทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คของหนังเรื่องนี้