ตอนที่ผมดู Toy Story 3 ผมก็คิดมาตลอดนะว่า ซีรี่ส์นี้ มันได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดที่ลงตัวแล้ว แม้ว่าเอาจริงๆ ผมจะไม่ชอบภาค 3 ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ หากผมเป็นแอนดี้ ผมคงไม่ยกของเล่นชิ้นโปรดที่สุดของผมให้คนอื่นหรอก เพราะความทรงจำมันมีราคาและคุณค่าที่ไม่มีทางหาอะไรมาแทนได้ แต่แน่นอนครับ สุดท้ายแอนดี้ตัดสินใจยกของเล่นให้เด็กคนอื่น เพื่อความสุขของแอนดี้ที่จะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และความสุขของเหล่าของเล่นที่ถูกส่งต่อซึ่งจะได้ถูกเล่นโดยเด็กๆ อีกครั้ง
ที่ไหนได้ หลังจากผ่านไป 9 ปี Toy Story 4 กลับถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าของเล่น และเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของ Toy Story 3 ที่ผมเกือบจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า ภาคนั้นมีตัวละครสำคัญหายไป 1 ตัว ที่จะกลับมามีบทบาทเด่นในภาคนี้ ชนิดที่ว่าบทเยอะกว่าบัซ ไลท์เยียร์ที่เป็นตัวเอกอีกตัวหนึ่งด้วยซ้ำไป
สำหรับเนื้อเรื่องก็จะกล่าวถึงเหล่าของเล่นของแอนดี้ที่ถูกส่งต่อให้กับบอนนี่ เด็กสาวผู้โชคดีในช่วงท้ายภาค 3 และเวลาก็ผ่านไป 2 ปี บอนนี่ก็เริ่มที่จะเข้าสู่วัยเรียน และตัววู้ดดี้ที่ตอนนี้ไม่ใช่ของเล่นตัวโปรดของบอนนี่ (ซึ่งชอบของเล่นแบบเด็กผู้หญิงมากกว่า) ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้นำของเหล่าของเล่นในห้องเด็กของบอนนี่อยู่
ทว่าพอบอนนี่ไปโรงเรียน บอนนี่ก็ได้สร้างของเล่นชิ้นโปรดของตัวเองขึ้นมา ซึ่งก็คือ ฟอร์กกี้ ซึ่งเกิดจากส้อมพลาสติกและลวดสีจากถังขยะ ซึ่งนั่นทำให้เจ้าฟอร์กกี้นั้นไม่คิดว่าตัวเองเป็นของเล่น แต่คิดว่าตัวเองเป็นขยะ ทั้งๆ ที่บอนนี่นั้นรักฟอร์กกี้มาก เดือดร้อนถึงวู้ดดี้ที่ต้องคอยตามล่าหาฟอร์กกี้กลับมาหาบอนนี่ จากแค่เล่นซ่อนหาตามถังขยะในบ้าน ลามไปถึงท้องถนน และกลายเป็นการผจญภัยที่จะทำให้วู้ดดี้ได้พบเพื่อนเก่าและเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของวู้ดดี้อีกครั้ง
แทบไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าแฟรนไชส์ของ Toy Story นี้จะยืนยาวมาถึง 24 ปีแล้ว และในทุกภาคเราก็จะได้เห็นพัฒนาการของเนื้อเรื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะภาค 3 ที่หลายๆ คนยกว่าเป็นภาคที่ peak สุดๆ แต่ก็มีจุดที่ผมไม่ชอบตามที่ผมได้บอกไปแล้ว และในภาคนี้เมื่อดูจากรายได้แล้วก็ดูเหมือนจะมีโอกาสที่จะเป็นภาคที่ทำรายได้สูงสุดแซงหน้าภาคอื่นๆ ด้วย ซึ่งแน่นอนครับ การได้พบกับวู้ดดี้ และบัซไลท์เยียร์อีกครั้ง มันก็เหมือนกับการได้พบเกลอเก่าที่เราไม่เคยคิดว่าจะไม่ได้เจอกันอีก แค่นี้มันก็มีคุณค่ามากพอที่เราจะยอมเสียเงินซื้อตั๋วไปดูในโรงแล้ว
ซึ่งการที่แฟรนไชส์นี้มีอายุยืนนานถึง 24 ปี กลุ่มผู้ชมของเรื่องนี้เองก็มีฐานอายุที่มากขึ้น เนื้อหาของภาคนี้จึงดูค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ มีการตั้งคำถามในหลายๆ ประเด็น เช่น คุณค่าของของเล่น ความภักดีของของเล่น ของเล่นจะมีค่าเมื่อได้ถูกใครคนหนึ่งครอบครอง หรือได้สร้างความสุขให้กับเด็กๆ คนอื่น ขอบเขตของเรื่องนี้จึงไปไกลจากการส่งต่อของเล่นในภาค 3 แต่ไปถึงขั้นว่าของเล่นจะออกจากห้องของเล่นไปสู่โลกว้าง ดังคำพูดวรรคทองของเรื่องนี้ที่ว่า “To infinity… and beyond.” (สู่ความเวิ้งว้าง อันไกลโพ้น) ที่กลายเป็นธีมหลักของภาคนี้
ประเด็นรองอื่นๆ ก็มีความน่าสนใจ เช่นเรื่อง gender relations ไปจนถึงเรื่องกล่องเสียงของวู้ดดี้ ที่ผมไม่มั่นใจว่า Pixar พยายามจะเล่นเรื่องประเด็นการบริจาคอวัยวะแบบอ้อม ๆ หรือเปล่า เพราะก่อนนี้ Pixar ก็เคยพูดประเด็นเรื่องความพิการผ่านเรื่อง Finding Nemo มาแล้ว (Nemo เป็นปลาพิการนะครับ ครีบข้างหนึ่งจะเล็กกว่าปกติ แต่พ่อของเขาจะเรียกว่าครีบนำโชค และไม่เคยหลุดคำว่าพิการออกมาในเรื่องเลย) แต่ประเด็นสำคัญที่ตัวหนังพยายามที่จะถามถึงทุกภาค และแต่ละภาคก็จะมีคำตอบที่ต่างกันออกไป ก็คือคุณค่าของการเป็นของเล่นนี่แหละครับ ว่ามันอยู่ที่ไหน ซึ่งคำตอบของภาคนี้ก็สามารถยกระดับของเนื้อเรื่องไปได้อีกระดับหนึ่ง และการปล่อยวางของวู้ดดี้ถึงสองครั้งในเรื่องก็ทำให้รู้สึกว่าวู้ดดี้เองก็เติบโตขึ้นเช่นเดียวกับที่แอนดี้เติบโตขึ้นในภาคสาม
แต่ตัวหนังเองก็ยังมีจุดที่ผมไม่ชอบอยู่ ตรงที่การสะสมตัวละครเพิ่มขึ้นมาจากภาคแรกมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงภาคล่าสุด ทำให้ตัวละครเด่นหลายตัวบทบาทน้อยลงมาก และเจ้าตัวฟอร์กกี้เองแม้จะพยายามชูให้เป็นตัวเอกของภาคนี้แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับแฟนๆ ได้มากเท่ากับตัวละครหลัก 2+1 ตัวจากภาคเก่า หรือกระทั่ง Duke Caboom ที่ถูกวางบทให้เป็นตัวใหม่ที่มีบทเน้นในภาคนี้ (ถึงขนาดเอาคีนู รีฟฟ์ มาพากย์) ก็ยังไม่สามารถแย่งซีนตัวละครเก่า ๆ ในเรื่องได้ ซึ่งพูดตรงๆ มันเป็นเรื่องของความผูกพันไปแล้ว
สิ่งที่ผมสงสัยก็คือ ภาค 4 นี้เหมือนเป็นการเปิดแฟรนไชส์ของจักรวาล Toy Story ให้ไปต่อได้ แต่ตัวละครที่จะได้ไปต่อ(หากมีภาค 5)นั้น จะสามารถแบกจักรวาลของหนังเรื่องนี้ไว้ได้หรือเปล่า ซึ่งหากดูจากความสำเร็จของรายได้ในภาค 4 ผมก็เชื่อว่าภาค 5 น่าจะมีโอกาสได้สร้างอยู่ แต่ Pixar เองก็ได้ออกมาตอบคำถามอย่างเป็นทางการแล้วว่า “ยังไม่มีการพูดถึง Toy Story 5 กันในเวลานี้” แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่มี ดังนั้นถ้าหากมีจริง ก็คงจะทิ้งช่วงห่างออกไปอีกหลายปีเลย (เหมือนที่ภาค 3 กับ 4 ห่างกัน 9 ปี) ประเด็นคือ พอถึงตอนนั้นแล้ว จักรวาลของ Toy Story จะเดินไปในทิศทางไหน…หรือภาค 4 จะเป็นตอนจบของซีรี่ส์นี้จริงๆ ซึ่งมันก็เป็นตอนจบอีกทางที่สมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว