Barbapapa

Barbapapa เป็นหนึ่งในการ์ตูนตะวันตกที่คนวัย 30+ น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี แม้จะเป็นเพียงแค่การ์ตูนสั้นๆ ความยาวตอนละไม่กี่นาทีแต่ก็มักจะถูกถามถึงอยู่บ่อยครั้งด้วยความคิดถึงโหยหาอดีตตามประสาวัยรุ่นเริ่มสูงวัย แม้ว่าอันที่จริงการ์ตูนเรื่องนี้แทบจะไม่เคยถูกนำกลับมาทำใหม่เลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยเอกลักษณ์ของตัวการ์ตูนที่น่ารักและโดดเด่นก็ทำให้หลายๆ คนจดจำการ์ตูนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

บาร์บ้าปาป้า แท้ที่จริงแล้ว เป็นการ์ตูนฝรั่งเศส ที่มีต้นกำเนิดมาจากนิยายภาพสำหรับเด็กที่เขียนขึ้นมาในยุค 70s โดย Annette Tison และ Talus Taylor ซึ่งโด่งดังและถูกตีพิมพ์ไปมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และพอถูกนำมาสร้างเป็นการ์ตูนทีวีก็ยิ่งโด่งดังเข้าไปอีก ซึ่งในบ้านเรา บาร์บ้าปาป้า ได้เข้ามาฉายทางทีวีในช่วงราวปี 2530 โดยออกอากาศทางช่อง 5 และช่อง 11 และเนื่องจากเป็นการ์ตูนสั้น ทำให้บ่อยครั้งที่บาร์บ้าปาป้าถูกนำมาใช้เป็นการ์ตูนเสริมสล็อตเวลาที่ไม่พอดี (ในวงการจะเรียกว่า รายการฟิลเลอร์ ที่เอาไว้เติมเวลาให้เต็ม) ทำให้เด็กไทยในยุคนั้นคุ้นเคยกับเจ้าตัวดุกดิ๊กสีชมพูนี้กันเป็นอย่างดี

ตามท้องเรื่องแล้ว บาร์บ้าปาป้าเป็นสิ่งมีชีวิตประหลาด รูปร่างคล้ายมะละกอ เกิดจากตัวอ่อนใต้ดิน แล้วพอได้รับน้ำก็งอกขึ้นมาเหมือนกับดอกไม้ในสวน (อ้างอิงจากตอนที่ 1)  จุดเด่นของมันก็คือ สามารถแปลงร่างอะไรก็ได้ (เหมือนดินน้ำมันหรือสไลม์ ซึ่งตอนแรกเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าแปลงร่างได้)

ซึ่งเดิมทีเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นจากตัวบาร์บ้าปาป้าสีชมพูเป็นตัวเอกหลัก ที่ได้มาอยู่ด้วยกันกับมนุษย์ แต่ต่อมาบาร์บ้าปาป้าก็รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว จนได้พบกับบาร์บ้ามาม่าสีดำและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจนมีลูกๆ ออกมาอีก 7 สี 7 ตัว (ซึ่งก็ใช้วิธี “ปลูก” ไว้ในดินจนงอกออกมาเหมือนกัน) ประกอบด้วย บาร์บ้าซู (สีเหลือง)หนุ่มน้อยผู้รักสัตว์ บาร์บ้าลาล่า (สีเขียว) สาวน้อยผู้รักเสียงเพลง บาร์บ้าลิบ (สีส้ม) สาวน้อยนักอ่านผู้ใฝ่รู้ บาร์บ้าโบ (สีดำ) เป็นตัวเดียวที่มีขน รักศิลปะ บาร์บ้าเบลล์ (สีม่วง) สาวน้อยผู้รักสวยรักงาม บาร์บ้าไบร์ท (สีน้ำเงิน) หนุ่มน้อยนักประดิษฐ์ และ บาร์บ้าบราโว (สีแดง) หนุ่มเลือดร้อนผู้รักการออกกำลังกาย

หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับคำพูดเวลาแปลงร่างขงบาร์บาป้าป้าว่า กริกกระดิกกริ๊ก บาร์บ้าทริก! ซึ่งจริงๆ แล้วคำนี้มาจากต้นฉบับคำว่า  Clickety Click—Barba Trick (ของไทยแปลออกมาค่อนข้างดีทีเดียว) แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นพากย์อังกฤษบางฉบับก็จะใช้คำว่า “All Change!” นะครับ แต่ผมก็ยังคิดว่า Clickety Click ฟังดูน่ารักกว่าอยู่ดี

อ้อ ชื่อของบาร์บ้าปาป้า นี่จริงๆ มาจากการเล่นคำนะครับ บาร์บ้าปาป้า แปลตรงตัวว่า “เคราของพ่อ” แต่ในภาษาฝรั่งเศส มันจะหมายถึง “ขนมสายไหม” นั่นเองครับ (ซึ่งขนมสายไหมก็มีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะสีชมพูและสามารถทำเป็นรูปต่างๆได้เหมือนบาร์บ้าปาป้านั่นเองครับ)