สามก๊ก (อนิเม)

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า คนญี่ปุ่นชอบสามก๊กกันมาก สามก๊กถูกนำมาเป็นต้นแบบในการดัดแปลงถ่ายทอดเรื่องราวในหลายรูปแบบ ทั้งการ์ตูน เกม หุ่นกระบอก (เคยฉายเมืองไทยด้วยนะ ทางช่อง 3 เมื่อ 20 กว่าปีก่อน) ทั้งแบบตามต้นฉบับ และหลุดกรอบไปเลยอย่างสามก๊กโนตมอิคคิโตเซ็นหรือสามก๊กกันดั้มที่ตอนนี้ก็ยังมีตอนใหม่ออกมาเรื่อยๆ แต่ถ้าจะพูดถึงการ์ตูนที่เป็นจุดเริ่มต้นของสามก๊กในหมู่แฟนๆ ชาวญี่ปุ่นแล้ว ก็ต้องนึกถึง สามก๊ก ฉบับ อ.โยโกยามะ มิตสึเทรุ เป็นเรื่องแรกๆ เลย

อ.โยโกะยามะ มิตสึเทรุ นั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตำนานของนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อมาแบบนี้ล่ะก็หลายๆ คนคงนึกไม่ออก แต่ถ้าพูดถึงผลงานของ อ.โยโกยามะล่ะก็ เชื่อแน่ว่าหลายๆ คนต้องคุ้นเคยกันดีอย่างแน่นอน  ไม่ว่าจะเป็น “หุ่นเหล็กหมายเลข 28” ที่ถูกยกให้เป็นต้นกำเนิดของการ์ตูนหุ่นยนต์ ยักษ์ของญี่ปุ่น ไจแอนท์โรโบะ  บาเบล II ไปจนถึงการ์ตูนสาวน้อยอย่างแม่มดน้อยแซลลี่ และอนิเมยอดฮิตอย่างอภินิหารหุ่นเทพเจ้าก็อดมาร์ส และผลงานคอมมิคที่ใช้เวลาเขียนนานถึง 15 ปีอย่างสามก๊กที่ถูกยกให้เป็นการ์ตูนประจำบ้านของใครหลายๆ คน

อ.โยโกยามะ เริ่มเขียนการ์ตูนสามก๊กตั้งแต่ปี 1971 บอกเล่าเรื่องราวในสามก๊กอย่างละเอียดตั้งแต่กบฎโจรโพกผ้าเหลืองยาวไปจนถึงจ๊กก๊กล่มสลาย คิดเป็นฉบับรวมเล่มได้ 60 เล่ม (15 ปี ปีละ 4 เล่ม) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการ์ตูนสามก๊กที่มีเนื้อเรื่องละเอียดทีสุดโดยมีเนื้อเรื่องอิงตามตนฉบับของ ล่อกวนตง ที่ชาวไทยรู้จักกันดี 

ตรงนี้ขออธิบายหน่อย เผื่อใครยังไม่ทราบ แม้สามก๊กจะเป็นเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ แต่ที่เราได้อ่านกันเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ล่อกวนตงเขียนขึ้น ซึ่งมีทั้งส่วนที่อิงตามประวัติศาสตร์จริงๆ และส่วนที่เสริมแต่งขึ้นมาเพื่อความสนุกสนาน โดยสามก๊กในบ้านเราจะเป็นสำนวนแปลของ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ที่แพร่หลายที่สุด ส่วนของญี่ปุ่นจะเป็นฉบับแปลของ อ.โยชิคาวะ เออิจิ ที่ถูกนำมาเป็นต้นฉบับหนังสือการ์ตูนอีกทีหนึ่ง โดยฉบับไทยและญี่ปุ่นนั้นมีส่วนที่เนื้อหาแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้นซึ่งในบ้านเราตอนนั้นมีเวอร์ชั่นลิขสิทธิ์โดย สนพ.มังก้าบุ๊คที่ทำออกมาในรูปแบบสะสม คือพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์อย่างดีแต่ขายในราคา 60 บาท (ในยุคที่หนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์ราคาแค่เล่มละ 25 บาท) ซึ่งในฉบับแปลไทยก็ทำออกมาได้ดีมาก คือมีการอธิบายจุดแตกต่างระหว่างฉบับไทยกับญี่ปุ่น ให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย

ส่วนฉบับอนิเมนั้น สร้างขึ้นเมื่อปี 1991 ออกอากาศทางทีวีโตเกียว ความยาว 47 ตอน โดยเนื้อเรื่องจะไปสิ้นสุดที่ศึกผาแดง (เซ็กเพ็ก)เท่านั้น ซึ่งก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่าทำไมไม่ทำต่อ เพราะดูเหมือนว่าตัวอนิเมก็ประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว มีการนำไปต่อยอดในรูปแบบอื่นมากมาย อาทิเช่น วิดีโอเกม เป็นต้น หรืออเมื่อสี่ห้าปีก่อนตอนไลน์เริ่มฮิตใหม่ๆ ก็มีการทำสติกเกอร์ไลน์ของการ์ตูนเรื่องนี้ออกมาขายอีกด้วย

ส่วนในบ้านเราถ้าเป็นฟรีทีวีดูเหมือนจะไม่เคยถูกซื้อมาฉาย ส่วนเคเบิ้ลทีวีนั้นไม่มั่นใจ แต่ที่เคยดูคือในรูปแบบวิดีโอในสมัยที่ร้านเช่าวิดีโอยังครองเมือง ซึ่งก็ยอมรับครับว่าสนุกดี แต่งานภาพอาจจะดูเชยๆ หน่อยถ้าเทียบกับการ์ตูนในยุคนั้น (อนิเมยุค 90 แต่ลายเส้นแบบยุค 70 ตามต้นฉบับคอมมิค) ดังนั้นแฟนๆ ในบ้านเราดูเหมือนจะคุ้นเคยจากการอ่านเวอร์ชั่นหนังสือการ์ตูนมากกว่า เพราะวางขายอยู่นานหลายปีทีเดียวครับ ขนาด สนพ.มังก้าบุ๊คปิดกิจการไปแล้ว ก็ยังมีการเอามาขายเซลล์กันหลายรอบ และยังมีฉบับไพเรทพิมพ์ออกมาเป็นเล่มหนาๆ ขายอีก

กวนอูในเวอร์ชั่นอนิเม ซึ่งเนื้อเรื่องลดทอนความรุนแรงและแต่งเติมเนื้อหาลงไปบ้าง เพื่อให้เด็กดูได้ง่ายขึ้น

แต่ถ้าหากจะอ่านการ์ตูนสามก๊ก โดยที่ไม่เคยอ่านสามก๊กในรูปแบบวรรณกรรมมาก่อน ก็ต้องยกให้เวอร์ชั่นของ อ.โยโกยามะนี่แหละครับ ที่อ่านง่ายที่สุด ส่วนเวอร์ชั่นอนิเม ถ้าใครมีศักยภาพในการหามาชมได้ ก็อยากให้ลองหามาดูกันนะครับ แม้ลายเส้นจะเชย แต่ก็ดูง่ายและลื่นไหลดี นอกจากนี้ดีไซน์ตัวะครสามก๊กของ อ.โยโกยามะนี่แหละครับ ที่กลายเป็นต้นแบบให้สามก๊กในยุคหลังๆ เพราะหากจะพูดว่าคนญี่ปุ่นรู้จักสามก๊กเวอร์ชั่นนี้กันมากที่สุด ก็คงจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปสักเท่าไหร่นัก

ยกเว้นอยู่จุดเดียวจริงๆ ที่ผมรู้สึกไม่ค่อยชอบสามก๊กเวอร์ชั่นนี้ ก็คือจูล่งน่ะ…ไม่หล่อเอาเสียเลย (จริงๆ นะ แถมในอนิเมไม่ค่อยมีบทด้วย)