ปกติผมไม่ใช่คอซีรี่ส์อะไรมากมาย (แม้ว่าก่อนหน้านี้สัก 20 ปี ผมจะทำงานในอุตสาหกรรมนี้ก็เถอะ) ซีรี่ส์ที่ผมดูก็มักจะเป็นซีรี่ส์แนวฮีโร่ของ DC เป็นส่วนใหญ่ ไม่ก็ซีรี่ส์ที่สร้างจากการ์ตูน แต่ Stranger Things เป็นข้อยกเว้นสำหรับผมในทุกกรณี เพราะปกติผมจะไม่ดูหนังสยองขวัญเลย แต่สำหรับเรื่องนี้ มันมีส่วนที่ต่างออกไปจนทำให้ผมต้องนั่งดูมันทุกภาค
Stranger Things เป็นซีรี่ส์ของ NETFLIX ที่เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุค 80s ในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ Hawkins ซึ่งเริ่มมาจากแก๊งเด็ก 4 คน วิล ไมค์ ดัสติน และ ลูคัส เด็กเนิร์ดประจำโรงเรียน ที่วันหนึ่ง วิล ได้ขี่จักรยานกลับบ้านแล้วหายตัวไป ท่ามกลางเหตุการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง และเด็กสาวหัวโล้นที่มีพลังประหลาดที่ชื่อ เอเลเว่น (ที่ไม่ได้หมายถึงผู้กล้าใน DQ11) ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวพันกับสถาบันวิจัยประหลาดที่ตั้งอยู่ในเมืองนี้
เริ่มแรกนั้นคล้ายกับว่า นี่จะเป็นหนังแฟนฉันฉบับอเมริกัน ที่เล่นเรื่องประเด็น Nostalgia เป็นหลัก แต่ไปไปมามา หนังเหมือนจะกลายเป็นกูนี่ส์ผสมกับ X-File ที่ผูกเส้นเรื่องหลายส่วนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการผจญภัยของเด็กๆ แม่ของวิล (นำแสดงโดย วิโนน่า ไรเดอร์) ที่ไม่ยอมรับการตัดสินของทางการว่าวิลตายไปแล้ว เรื่องรักวัยรุ่นของพี่ชายวิลและพี่สาวไมค์ ที่ต้องการตามหาเพื่อนที่หายตัวไป จนถึงเรื่องการเมือง และสงครามเย็นระหว่างอเมริกาและรัสเซีย ปิดท้ายด้วยเรื่องราวแบบหนังสยองขวัญยุค 80 ที่ทำให้เรื่องนี้ขมวดปมได้อย่างสนุกและน่าสนใจ
มาจนถึงภาคสองที่สานต่อความสนุกจากภาคแรกได้อย่างลงตัว เหล่าเด็กๆ ที่เริ่มเติบโตขึ้น และเอเลเว่นหรือแอลที่กลายมาเป็นลูกบุญธรรมของ จิม ฮอปเปอร์ ตำรวจของเมืองฮอว์กินส์ ซึ่งในภาคนี้เราจะรู้แล้วว่า ประตู ที่เชื่อมต่อกับโลกกลับด้านยังไม่ได้ปิดสนิท และวิลเองก็ยังมีส่วนที่เชื่อมต่อกับโลกนั้นอยู่ พร้อมกับตัวละครใหม่ แม็กซ์ ผู้หญิงที่จะทำให้มิตรภาพของกลุ่มเพื่อนทั้ง 4 ปั่นป่วน
หลังจากที่ภาคสองจบ มาถึงภาคสามที่เรื่องราวพัฒนาไปอีกขั้น จากเรื่องรัสเซียที่ตอนแรกเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ แต่ในภาคนี้ดันมีรัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้องจริงๆ เพราะรัสเซียเองก็ต้องการวิจัยและใช้ประโยคจากโลกกลับด้านเช่นเดียวกัน ขอบเขตของเรื่องไปไกลจนถึงเรื่องธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่เปิดกลางเมือง Hawkins และกลุ่มเด็กที่โตขึ้น เริ่มจับคู่มีแฟน ไม่ว่าจะเป็น ไมค์-แอล ลูคัส-แม็กซ์ และเด็กเนิร์ดสุดในกลุ่มอย่างดัสตินก็ยังมีแฟนกับเขา ทำให้ วิล เริ่มรู้สึกว่า มิตรภาพในกลุ่มเพื่อนของพวกเขากำลังเปลี่ยนไป ในขณะที่ประตูของโลกกลับด้าน ก็กำลังจะเปิดออกอีกครั้ง และจะเปลี่ยนเมืองแห่งนี้ไปตลอดกาล
เหตุผลที่ซีรี่ส์นี้ได้รับความนิยม อย่างที่บอกแต่แรกครับว่า มันเป็นซีรี่ส์ที่ให้อารมณ์แบบ Nostalgia ย้อนไปยุค 80s ซึ่งสำหรับหลายๆ คน มันเป็นยุคที่สวยงามที่สุด ยุคที่เทคโนโลยีและวิถีชีวิตบรรจบเข้ากันอย่างลงตัว ดูลึกลับ มีเสน่ห์ โดยเฉพาะวัฒนธรรม Pop Culture ที่กำลังเติบโตจากภาพยนตร์และการ์ตูนทีวีในยุคนั้น อย่างในภาค 2 เราจะได้เห็นว่า โกสต์บัสเตอร์ เป็นที่ชื่นชอบในปี 84 มากแค่ไหน หรือพอภาค 3 เราก็จะได้เห็นผู้คนตื่นเต้นกับ Back to the Future ภาคแรก (1985) และเพลงที่ดัสตินกับซูซี่ร้องร่วมกัน ก็ทำให้หลายๆ คนพูดถึงเพลงฮิตจากหนังเรื่อง The Neverending Story (1984) อีกครั้ง ขนาดที่ว่าเจ้าของเพลงต้องอัพคลิปนี้ขึ้น youtube ใหม่ในปีนี้เลยทีเดียว
และส่วนที่น่าสนใจของซีรี่ส์นี้อีกจุด นอกจากฝีมือการแสดงของ วิโนน่า ไรเดอร์ ที่คืนฟอร์มอีกครั้งหลังจากห่างหายจากวงการไปนาน ก็คือพัฒนาการของกลุ่มเด็ก ๆที่เติบโตขึ้นทุกภาค จนเรารู้สึกว่า จากหนังเด็กในภาคแรก มันกลายเป็นหนังรักวัยรุ่นในภาค 3 ได้ไงไม่รู้ แม้ว่าในส่วนของบทนั้นจะมีช่องโหว่อยู่เยอะ บางจุดก็ดูขาดน้ำหนักจนไม่น่าเชื่อถือ (โดยเฉพาะในภาค 3) แต่มันก็ทำให้เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยส่วนที่คาดไม่ถึง เดาไม่ออก ในบรรยากาศแบบที่บางคนบอกว่า มันดู “เชยๆ ” แต่มันก็เป็นความเชยที่ทำให้เรารู้สึกว่า ยุค 80s มันก็เป็นแบบนี้แหละ
ซึ่งจากข่าวที่ออกมา ดูเหมือนว่าซีรี่ส์นี้จะยาวประมาณ 4-5 ซีซัน และคงไม่เกินไปกว่านั้นแล้ว เพราะเด็กๆ เริ่มโตขึ้นกันหมดแล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือ หากเรายึดตามไทม์ไลน์ เรื่องราวในภาค 4 ก็น่าจะเกิดในปี 1986 ซึ่งเป็นปีที่เกิด ภัยพิบัติเชอร์โนบิล ขึ้นที่รัสเซีย (ในตอนนั้นนะ ปัจจุบันหลังโซเวียดแตก เชอร์โนบิลอยู่ในพื้นที่ของยูเครน) และในท้ายภาค 3 เราก็พอจะทราบแล้วว่า เรื่องราวอาจจะขยายไปเกิดที่รัสเซียด้วย จึงน่าสนใจว่า Stranger Things จะถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 1986 ออกมาในรูปแบบไหน และชะตากรรมของตัวละครหลายตัวที่เข้าสู่จุดเปลี่ยนในภาค 3 จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันในภาค 4 กันต่อครับ…