Weathering with You สาวฟ้าใสกับพ่อหนุ่มใจเกินร้อย

*****บทความนี้ สปอยล์เนื้อหาสำคัญบางส่วน *****

ก่อนที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่อง Your Name เมื่อปี 2016 ชื่อของผู้กำกับ ชินไก มาโคโตะ ก็ถือได้ว่าโด่งดังในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ความสำเร็จของ Your Name นั้นก็ยิ่งทำให้ อ.ชินไก ถูกจับตามองมากขึ้น จนบางคนถึงกับยกย่องให้เป็นมิยาซากิ ฮายาโอะ คนที่สองเลยก็มี (ทั้งที่จริง ผมว่าทั้งสองคน ทำหนังออกมาคนละแนวกันเลยนะ ถึงจะเป็นอนิเมเหมือนกันก็เถอะ)

เรื่องฝีมือของผู้กำกับชินไกนั้น คงไม่ต้องสาธยายอะไรเพิ่มเติมแล้ว แต่เหตุผลที่ Your Name ประสบความสำเร็จสูงนั้น ก็เพราะ Your Name เป็นอนิเมของ อ.ชินไก ที่ดูง่ายที่สุดเ มื่อเทียบกับผลงานเรื่องอื่นๆ ของ อ.ชินไกก่อนหน้านี้ ที่แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้ออกมาในแนวที่ตลาดยอมรับได้ง่ายเหมือนกับ Your Name ที่มีแก่นเป็นเรื่องราวความรักแบบวัยรุ่นยุคใหม่เข้าที่สอดแทรกขดเกลียวเข้ากับความเชื่อ ความศรัทธาและการเล่นกับความรู้สึกในใจของผู้ชมได้อย่างลงตัว

และสำหรับเรื่อง Weathering with You ที่เป็นผลงานใหม่ล่าสุดของ อ.ชินไกนั้น หากพูดกันตามตรง นี่ก็คือผลงานที่ดูแล้วย่อยง่ายยิ่งกว่า Your Name เสียอีก แม้ตัวอนิเมจะยังคงหยิบเอาตำนานพื้นถิ่นอย่าง “สาวฟ้าใส” (晴れ女) มาผูกกับเรื่องราวความรัก และการเติบโตของวัยรุ่นยุคใหม่ในป่าคอนกรีตได้อย่างน่าสนใจ ผ่านตัวละครหลักๆ ก็คือ โฮดากะ เด็กหนุ่มที่หนีออกจากบ้านมายังโตเกียว และ ฮินะ ตัวเอกของเรื่องที่เป็นสาวฟ้าใส ที่สามารถควบคุมสภาพอากาศได้

ฮินะ หญิงสาวผู้มีพลังควบคุมดินฟ้าอากาศ

ซึ่งจุดแรกที่ผมรู้สึกว่า ผลงานเรื่องนี้แตกต่างจากงานอื่นๆ ของ อ.ชินไก เรื่องอื่นๆ ก็คือ โฮดากะ ตัวเอกของเรื่องนั้นมีความเป็น Loser สูงมาก ผิดกับพระเอกจากอนิเมเรื่องอื่นๆ ของ อ.ชินไกที่ดูพระเอ๊ก พระเอกเสียจนน่าหมั่นไส้ (ฮา) แต่เจ้าโฮดากะนี่เป็นเด็กหนุ่มอายุ 16 ที่ทำตัวผิดกฎหมายตั้งแต่แอบหนีออกจากบ้าน และพยายามที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโตเกียวแบบหลบๆ ซ่อนๆ เงินก็ไม่ค่อยมี จนต้องไปพัวพันกับเรื่องผิดกฎหมายเข้า แต่สุดท้ายก็ถูก สุกะ (ให้เสียงพากย์โดย โอกุริ ชุน) ตาลุงที่เป็นคอลัมน์นิสต์เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับช่วยเหลือเอาไว้ เพราะเจ้าตัวเองรู้สึกเหมือนกับเห็นโฮดากะเป็นภาพสะท้อนของตัวเองในอดีต ซึ่งคาแรกเตอร์ แบบ Zero To Hero ของโฮดากะนี่แหละ ที่ทำให้ผมสึกว่าหมอนี่เหมือนจะเป็นพระเอกตามขนบการ์ตูน “โชเน็น” มากกว่าพระเอกการ์ตูนของ อ.ชินไกเรื่องอื่น

ส่วน ฮินะ ก็เป็นสาวฟ้าใสที่ได้รับพลังในการควบคุมสภาพอากาศมาจากเทพอินาริ ซึ่งเจ้าตัวสูญเสียแม่ไปเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ต้องแอบอาศัยอยู่กับน้องชาย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องผิดกฏหมายที่ญี่ปุ่น (เด็กๆ ไม่สามารถอยู่กันเองได้โดยไม่มีผู้ปกครอง) เจ้าตัวจึงต้องแอบโกงอายุแล้วลักลอบทำงานพิเศษเพื่อหาเลี้ยงน้องชาย จนกระทั่งได้พบกับโฮดากะ และเริ่มต้นกิจการ “สาวฟ้าใส” คอยควบคุมสภาพอากาศผ่านการรับคำร้องขอทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อแก้ปัญหาฝนตกไม่หยุดในโตเกียวที่กระทบถึงวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่แห่งนี้

ฮินะสวดภาวนา ทำให้ฝนหยุดตกได้ชั่วขณะหนึ่ง

แน่นอนครับว่า การเข้าไปแทรกแซงสภาพอากาศนั้น เป็นการ “ฝืนกฎ” ระหว่างเทพอินาริและเทพมังกร จึงจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนกับอะไรบางอย่าง นั้นคือฮินะต้องกลายเป็นเครื่องสังเวยให้กับการทำให้ท้องฟ้าแจ่มใส ยิ่งใช้พลังมากเท่าไหร่ ร่างกายของฮินะก็ค่อยๆ โปร่งใสจนเริ่มเลือนหาย ในที่สุดก็ถึงจุดที่ฮิดากะต้องตัดสินใจว่า การเลือกระหว่าง คนหนึ่งคน(ฮินะ) กับความสุขของคนทั้งเมือง เขาควรจะเลือกเส้นทางไหน

ฮิดากะต้องเลือก ระหว่างคนหนึ่งคน กับความสุขของคนทั้งเมือง

ซึ่งถ้าเราสังเกตดีๆ ตัวอนิเมนั้น เดินเรื่องโดยเหล่าตัวละครหลักที่ต้องการ “ฝืนกฏ” กันทุกคน ฮิดากะแหกกฎครอบครัวหนีออกจากบ้านมาใช้ชีวิตอย่างผิดกฎหมายในเมืองจนทำให้ถูกตำรวจไล่ล่า ฮินะก็ฝืนกฎหมายเยาวชนแอบทำงานพิเศษและใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีผู้ปกครอง และยังฝืนกฎทำให้ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆฝนกลับมาสดใส แต่ถามว่ากฎผิดไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ เพราะกฎเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นเพื่อให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข ไม่ใช่กฎเพื่อคนใดคนหนึ่ง

ซึ่งท้ายสุด สิ่งที่ตัวหนังให้คำตอบเราก็คือ นำตัวเองกลับเข้าสู่กติกาที่ถูกต้องเสีย แม้ว่านั่นอาจจะไม่ใช่หนทางที่สวยงาม หรือทำให้ทุกคนมีความสุข โฮดากะก็ต้องกลับบ้านนอก(เกาะ)ไปเรียนให้จบ ส่วนฮินะนั้นก็เลิกเป็นสาวฟ้าใส และปล่อยให้สภาพอากาศเป็นไปอย่างที่ควรเป็น นั่นก็คือปล่อยให้ฝนตกไม่หยุดจนโตเกียวจมทะเลไปเลย

สุกะ ให้ความช่วยเหลือโฮดากะ เพราะรู้สึกเหมือนเห็นตัวเองในอดีต ที่เคยหนีออกจากบ้านมาก่อน

ซึ่งแน่นอนว่า มันกลายเป็นความรู้สึกผิดที่โฮดากะต้องแบกรับเอาไว้ แต่หนังก็พยายามบอกว่า สิ่งที่ทั้งโฮดากะและฮินะตัดสินใจไป ไม่ใช่เรื่องผิดหรอก โตเกียวเดิมทีมันก็สมควรจะจมทะเลอยู่แล้ว เหมือนอย่างที่ 800 ปีก่อนโตเกียวก็เคยจมอยู่ใต้น้ำ จนกระทั่งเกิดมีเด็กสาว(มิโกะ) ที่คอยเข้ามาแทรกแซงสภาพอากาศ จนทำให้โตเกียวไม่ต้องจมอยู่ใต้น้ำโดยแลกกับชีวิตของตน แต่มันถูกต้องหรือเปล่ากับการเสียสละตนเองเพื่อให้คนส่วนใหญ่มีความสุข หรือเราควรจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปแบบที่ควรจะเป็นดีล่ะ? เรา(วัยรุ่น)กำลังแบกภาระที่ใหญ่เกินตัวไปหรือเปล่า นี่คือคำถามที่ไร้คำตอบทืี่ อ.ชินไกถามวัยรุ่นผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้

ตำรวจในเรื่อง แม้ดูเหมือนจะเป็นตัวร้ายกลายๆ แต่อันที่จริงเขาก็ทำหน้าที่ในฐานะ คนควบคุมกฎหมาย ให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะสิ่งที่โฮดากะทำ มันก็เป็นความผิดจริงๆ แต่จะด้วยความอคติที่มีต่อเด็กหนีออกจากบ้าน หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ในส่วนอื่นๆ ที่น่าสนใจก็คือ งานภาพที่ถือได้ว่า อัพเกรดไปอีกขั้นหนึ่ง และถือเป็นลายเซ็นของ อ.ชินไกกับการถ่ายทอดภาพของเมืองแบบเหงาๆ กับท้องฟ้าสวยๆ ออกมาได้อย่างน่าสนใจ จนทำให้เราได้เห็นโตเกียวในอีกมุมมองหนึ่งที่ต่างจากที่เราเคยเห็น (รวมถึงโฆษณาแฝงที่เพิ่มขึ้นด้วย-ฮา) และยังมีการ reference ถึงผลงานเก่า ๆ ของ อ.ชินไกได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งตรงนี้จะไม่ขอบอกว่าตรงไหน เพราะอยากให้ไปพิสูจน์เอาเอง แต่บอกเลยว่าถ้าเป็นแฟน อ.ชินไกจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจนอยากจะร้องว้าวออกมาดังๆ เลย

ส่วนเพลงประกอบนั้นก็ถือว่ายอดเยี่ยม แต่บางทีก็รู้สึกว่า แอบใส่เพลงเยอะเกินไปนิด ใส่เสียจนรู้สึกว่าเหมือนจะยัดเยียดจนบางทีก็ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูมิวสิควิดีโอขนาดยาวมากเกินไปนิด และตอนจบที่เหมือนกับบทสรุป แต่ยังไม่สามารถขมวดปมที่สร้างไว้ได้ทั้งหมดได้ คือยังมีอะไรให้คาใจอยู่บ้างพอสมควร ซึ่งต่างกับ Your Name ที่ทุกปมสามารถขมวดลงได้อย่างลงตัวจนทำให้หลายคนต้องกลับไปดูซ้ำเพื่อพิสูจน์ปมที่ซ่อนอยู่ในเรื่องกันอีกรอบจนทำให้หนังทำเงินอย่างถล่มทลาย ซึ่งนั่นเป็นจุดที่ทำให้ผมยังชอบ Your Name มากกว่า แถมเรื่องนี้ยังไม่มีอะไรที่หักมุมได้เท่ากับตอน Your Name ด้วย แม้ตอนจบอาจจะรู้สึกประหลาดใจนิดๆ อยู่บ้างก็ตามที

ปล.ไม่รู้มีใครคิดเหมือนผมหรือเปล่า แต่ผมว่าในหลายๆ มุม หน้าของเจ้าโฮดากะก็ดูคล้ายๆ คิริโตะ (SAO) อยู่ไม่น้อยเลยนะ

ปล.2 ตอนที่โฮดากะอาศัย Manga Cafe เป็นที่หลับนอน (เพราะไม่มีเงิน) เขาได้อ่านหนังสือเรื่อง The Catcher in the Rye หรือชื่อฉบับภาษาไทย “จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น” (แปลไทยโดย ปราบดาหยุ่น ส่วนฉบับญี่ปุ่นที่ปรากฎในหนัง มุราคามิ เป็นผู้แปล) ซึ่งหนังสือเล่มนี้ มีความนัยแฝง 2 อย่าง อย่างแรกก็ตามชื่อเรื่องเลยครับ หนังสือเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นอายุ 17 ปี (รุ่นราวคราวเดียวกับโฮดากะ) ที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนและต่อต้านสังคม แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ หนังสือเล่มนี้มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรหลายคนรวมถึงมีส่วนพัวพันกับคดีฆาตกรรมจอห์น เลนนอนด้วย จนทำให้หนังสือเล่มนี้เคยถูกแบนในหลายๆ ประเทศ ซึ่งภาพสะท้อนเชิงอคติที่มีต่อวัยรุ่น มันก็ถูกสะท้อนในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

The Catcher in the Rye