ผมเองรู้สึกแปลกใจไม่น้อย ตอนที่มีข่าวว่า City Hunter the Movie: Shinjuku Private Eyes จะเข้าโรงในบ้านเรา แถมไม่ใช่แบบจำกัดโรงด้วย ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จที่ญี่ปุ่น แต่ซิตี้ฮันเตอร์ ก็เป็นการ์ตูนที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1985 จนถึงตอนนี้ก็ผ่านมากว่า 34 ปีแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ที่ไม่น่าจะมีอายุต่ำกว่า 30 ปี จะยังสนใจดูหนังเรื่องนี้ในโรงกันอยู่หรือเปล่า
สำหรับ City Hunter the Movie: Shinjuku Private Eyes นั้นเป็นอนิเมภาคล่าสุดของซิตี้ฮันเตอร์ ที่ห่างหายจากจอภาพยนตร์ไปตั้งแต่ปี 1999 หรือ 20 ปีมาแล้ว โดยโทนเรื่องนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องราวของ ซาเอบะ เรียว สุดยอดนักกวาดล้างและลามก ฉายา ม้าพ่อพันธุ์แห่งชินจูกุ กับคู่หู มาคิมุระ คาโอริ ที่ยังคงทำหน้าที่คอยปกป้องผู้คนอยู่ในโลกเบื้องหลัง แม้ในยุคปัจจุบัน จะมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนโครงเรื่องนั้น ก็ยังคงคล้ายกับภาคปกติ ก็คือวันหนึ่ง มีหญิงสาวที่ชื่อ ชินโด ไอ มาเขียนข้อความ XYZ ที่กระดานแจ้งข่าวตรงสถานีชินจูกุ (ที่ตอนนี้กลายเป็นกระดานดิจิตอลไปแล้ว) ทำให้ ซาเอบะ เรียว ออกมารับงานบอดี้การ์ดคอยคุ้มครอง ชินโด ไอ ที่กำลังถูกกลุ่มคนลึกลับไล่ล่าโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ดูเหมือนว่ามันจะพัวพันกับ มิคุนิ ชินจิ เจ้าของบริษัทไอทีชื่อดังที่เป็นเพื่อนในวัยเด็กของคาโอริด้วย
ความน่าสนใจของเรื่องก็คือ การถ่ายทอดเรื่องราวของ ซิตี้ฮันเตอร์ ออกมาในโลกยุคสมัยใหม่ แม้เสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร จะยังดูราวกับหลุดออกมาจากยุค 80 แถมอายุของตัวละครก็ไม่เพิ่มขึ้นด้วย (ในเรื่องบอกใบ้กลายๆ ว่า คาโอริ อายุ 26 ปี) ซึ่งไม่เพียงแต่สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ศัตรูของเรียว ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน แม้เราจะรู้ดีว่า เรียวเคยเป็นทหารรับจ้าง และเคยต่อสู้กับพ่อค้าความตายมาไม่รู้กี่หน แต่ในเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีสงคราม สิ่งที่มนุษย์นำมาใช้ประหัตถ์ประหารกันในยุคนี้จึงอาจไม่ไช่แค่การสู้กันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร กับสมองกล ระบบเอไอ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ
และจุดหนึ่งที่ผมถือว่าเป็นไฮไลท์ที่หลายๆ คนอาจจะได้เห็นในหนังตัวอย่างไปแล้วก็คือ การปรากฎตัวของสามสาว แคทอายส์ ซึ่งจริงๆ ในต้นฉบับคอมมิคและอนิเมนั้น ทั้งสองซีรี่ส์นี้แทบจะไม่มีจุดเชื่อมต่อกันเลยนอกจากร้านกาแฟของอุมิโบสุที่ใช้ชื่อว่าร้านแคทส์อาย แต่ในหนังเรื่องนี้จะมีการยืนยันออกมาในเนื้อเรื่องเลยว่า ร้านแคทส์อายของอุมิโบสุ กับร้านแคทส์อายของสามสาวนั้น เป็นร้านเดียวกันจริงๆ และถึงแม้จะมีบทบาทออกมาไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอที่จะอธิบายถึงจุดเชื่อมต่อหลายๆ จุด ที่ซ่อนอยู่ระหว่างทั้งสองซีรี่ส์ ว่าช่วงที่อุมิโบสุดูแลร้านอยู่ สาวๆ แคทส์อายหายไปไหน
นอกจากนี้ ในส่วนของเพลงประกอบนั้น ก็ถือว่าเป็นจุดเด็ดของอนิเมเรื่องนี้ที่ทำออกมาดักแฟนๆ รุ่นเก่าได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะตัวอนิเมใช้เพลงประกอบของซิตี้ฮันเตอร์ภาคทีวีได้อย่างคุ้มค่า รียูสกันตั้งแต่เปิดเรื่องยันปิดเรื่องมากันเป็นสิบเพลงเลยครับ แต่มันก็เป็นจุดอ่อนสำหรับแฟนๆ ที่ไม่ได้ดูอนิเมมาก่อนเหมือนกันนะครับ เพราะในแต่ละเพลงที่เลือกมามันก็มีความหมายแฝงที่เชื่อมโยงกับภาคทีวีอยู่ด้วย ถ้าหากไม่ใช่คนที่ดูภาคทีวีมาก่อน อาจจะไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งอะไรมากนัก เผลอๆ จะรู้สึกว่าเพลงบางเพลงมันออกเชยๆ ไปด้วยซ้ำ
ในส่วนของทีมพากย์นั้น ก็ยังคงเอานักพากย์คนเดิมจากภาคทีวีกลับมาให้เสียงตัวละครหลัก ทำให้ได้บรรยากาศดั้งเดิมแบบสุดๆ แต่มันก็มีจุดที่ทำให้รู้สึกว่า เสียงของนักพากย์บางท่านนั้น ออกจะแก่เกินกว่าตัวคาแรกเตอร์ เพราะอย่างที่บอกว่า ตัวละครในเรื่องไม่ได้มีอายุเพิ่มจากเดิมเลย แต่นักพากย์ของเรื่องนี้ให้เสียงมาตั้งแต่ทีวีซีรี่ส์ภาคแรก (ปี 1987) จนถึงปัจจุบันก็ผ่านมา 32 ปีแล้ว หลายๆ คนก็ย่อมมีอายุมากขึ้น บางคนก็ 60+แล้ว น้ำเสียงก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ดังนั้นเสียงพากย์ (บางคน) อาจจะไม่ถึงกับเป๊ะ 100% เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นยุค 80 แต่ก็เป็นเหตุผลที่เข้าใจและยอมรับได้นะ
สำหรับคนที่ชื่นชอบ City Hunter อยู่แล้ว ก็พูดกันตามตรงครับว่า น่าจะถูกใจหนังเรื่องนี้ และอยากให้ไปดูในโรงกันเยอะๆ เพราะดูจากรายได้สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในบ้านเรา ทำเงินไปได้ราวๆ 3 แสนบาทไทยเท่านั้น ผิดกับที่ญี่ปุ่นที่แม้จะเปิดตัวไม่แรงมาก (ราวสองร้อยล้าน) แต่ก็ฉายได้ยาวๆ จนทำยอดรวมไปได้ถึง 1,500 ล้านเยนเลยทีเดียวครับ แต่ในบ้านเรานี่ดูแล้วน่าจะอยู่ยืนโรงได้ถึงแค่พุธนี้เท่านั้น เพราะตอนที่ผมไปดูมีคนดูทั้งโรงแค่ 7 คนเอง ก็บอกตามตรงว่าเสียดายมากครับ โอกาสแบบนี้ไม่น่าจะมีมากนัก ถ้าไปดูได้ก็ไปดูในโรงกันเถอะครับ จะได้มีหนังอนิเมดีๆ เข้ามาให้เราดูกันในโรงต่อไปเรื่อยๆ คนทำก็จะได้มีกำลังใจด้วย เพราะ Staff ทีมงานสร้างเรื่องนี้มีคนไทยด้วยนะ