ในช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่ไม่ได้ไปไหน ผมใช้เวลาไปกับการดู ปรมาจารย์ลัทธิมาร ใน Netflix ครับ แม้ว่ากระแสในบ้านเราจะมาได้ประมาณพักใหญ่ๆ แล้ว แต่เนื่องจากเป็นซีรี่ส์ที่มีจำนวนตอนค่อนข้างเยอะ (50 ตอน) ผมจึงไม่มีเวลาดูจริงๆ จังๆ จนจบเสียที
ปรมาจารย์ลัทธิมาร หรือ The Untamed เป็นซีรี่ส์จีนกำลังภายใน ที่สร้างจากนิยายแนว BL ชื่อดัง แต่การดัดแปลงมาเป็นซีรี่ส์นั้น จำเป็นต้องตัดส่วนที่เป็น BL ออก เพราะกฎหมายของจีนแผ่นดินใหญ่นั้นค่อนข้างเข้มงวดกับเรื่องทำนองนี้มาก แต่มันกลับเป็นผลดีที่ทำให้ ปรมาจารย์ลัทธิมาร กลายเป็นซีรี่ส์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แม้บางคนอาจจะรู้ว่า มันเคยเป็น BL มาก่อน แต่ด้วยความกลมกล่อมของเนื้อเรื่อง ทำให้ไม่รู้สึกขัดเขินที่จะรับชม และสนุกไปกับเนื้อเรื่องได้
โลกของ ปรมาจารย์ลัทธิมาร จะเป็นโลกแนวแฟนตาซีแบบย้อนยุค ซึ่งต่างจากหนังจีนกำลังภายในแบบที่หลายคนคุ้นเคย คือเป็นโลกที่มีเซียนอาศัยอยู่กับมนุษย์ คอยทำหน้าที่ปราบปีศาจภูตผี หรืออธิบายง่ายๆ เหล่าเซียนก็เปรียบเสมือนจอมยุทธ และตระกูลของเซียนก็เหมือนสำนัก ซึ่งในเรื่องนี้มีตระกูลเซียนอยู่มากมาย แต่ก็จะมีตระกูลใหญ่ๆ อยู่ห้าตระกูลด้วยกัน คือ เวิน หลาน เจียง เนี่ย จิน
เว่ยอู๋เซี่ยน หรือ เว่ยอิง ตัวเอกของเรื่อง เป็นเด็กที่ถูกตระกูลเจียงรับมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม มีนิสัยขบถ เจ้าสำราญ ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ แต่ยึดถือคุณธรรม เขามาคบหาเป็นสหายรักกับ หลานวั่งจี หรือ หลานจ้าน แห่งตระกูลหลาน ที่ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ของตระกูลอย่างเคร่งครัด (แถมมีหลายพันข้อด้วย) จึงดูเหมือนเป็นคนเย็นชา โดดเดี่ยว แต่ก็ยังคงความยุติธรรมไม่แพ้เว่ยอู๋เซี่ยน แม้ว่าทั้งสองจะดูเหมือนกระจกคนละด้านก็ตาม
ความน่าสนใจของเรื่องก็คือ โดยโครงเรื่องนั้น มีความคล้ายคลึงกับ กระบี่เย้ยยุทธจักร ตรงที่ตัวเว่ยอู๋เซี่ยนนั้นมีอุปนิสัยคล้ายเล่งฮู้ชง คือเป็นคนนอก (กำพร้า) ที่ถูกรับเข้าสำนัก เจ้าสำราญ ชอบแหกกฎเกณฑ์ แต่รักคุณธรรมจนทำให้ชีวิตตนเองต้องเข้าสู่วังวนแห่งความบัดซบ (ตัวซวย) กลายเป็นแพะรับบาปถูกคนทั้งแผ่นดินกล่าวหาว่าร้าย และที่สำคัญ ทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวพันกับ “ดนตรี” เหมือนกัน รวมถึงชะตาชีวิตที่เว่ยอู๋เซี่ยนต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไป ก็เหมือนกับเล่งฮู้ชงด้วย
สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ การที่เว่ยอู๋เซี่ยนมีหลานวั่งจีอยู่ข้างกาย เสมือนหยินหยางที่อยู่ตรงข้ามแต่หล่อเลี้ยงกันอย่างสมดุล (แถมทั้งคู่ยังชอบชุดขาว-ดำทั้งเรื่องด้วย) แม้ในช่วงแรกทั้งสองดูเหมือนจะไม่ถูกกัน แต่ในช่วงครึ่งหลังนั้น หลานวั่งจีคือคนที่เชื่อมั่นในตัวเว่ยอู๋เซี่ยนที่สุด แม้เขาจะถูกตีตราจากคนทั้งแผ่นดินว่าเป็นมารร้าย แต่เหตุผลที่เว่ยอู๋เซียนต้องเข้าสู่ด้านมืด กลายเป็น ปรมาจารย์อี๋หลิง ก็เป็นเหตุผลที่ไม่ขัดกับหลักคุณธรรม แต่ขัดกับกฎเกณฑ์ที่แบ่งแยกโลกให้มีแต่ขาวกับดำ หรือเซียนกับมารแบบสุดขั้ว ซึ่งแน่นอนครับว่า การแบ่งโลกแบบสุดขั้วแบบนี้ แม้แต่ในยุคปัจจุบันเราก็ยังเห็นอยู่ แถมอยู่ใกล้ๆ ตัวเรานี่แหละ
ในส่วนของพล็อตเรื่องนั้น ก็ยอมรับครับว่าทำออกมาได้น่าสนใจครับ คือเป็นหนังแนวกำลังภายในเชิงสืบสวนไขปริศนาที่ใช้การ Flash Back เล่าสลับไปมา เปิดตัวก็โผล่มาเว่ยอู๋เซี่ยนตายแบบคนดูงงตั้งแต่ 10 นาทีแรก แล้วค่อยย้อนอดีตไปแบบยาวๆ หลายสิบตอน ก่อนจะกลับมาไขปริศนาที่วางไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งบางจุดนั้นก็ยอมรับครับว่า เดาได้ไม่ยาก ว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่เซอร์ไพร์สที่วางไว้ตลอดเรื่องกลายเป็นจุดที่น่าสนใจที่ทำให้ต้องดูต่อกันไปยาวๆ และพอดูจบ ยังมาเฉลยบางจุดที่ทิ้งไว้เป็นปริศนาตั้งแต่สองตอนแรกอีก ซึ่งจุดนี้ต้องขอชมว่า วางโครงเรื่องไว้ได้อย่างแข็งแรงและลงตัวมากครับ
แถมฉากดราม่าหลายจุดในเรื่องก็ทำออกมาได้บีบหัวใจจริงๆ มีอยู่ช่วงหนึ่ง (ตอน 30 กว่าๆ) นี่ทำผมจิตตกไปพักหนึ่ง หยุดดูไปหลายวันเลยครับ (มาดูอีกทีก็ตอนปีใหม่นี่แหละ) และอีกตอนคือตอนที่ 46 ตอนที่เฉลยปริศนาสำคัญจุดหนึ่งในเรื่อง (ที่ผู้ชมเดาได้แต่แรกแล้ว) ก็ทำออกมาได้อย่างสะเทือนใจมาก เอาจริงๆ ไม่ได้ดูซีรี่ส์ที่ทำให้น้ำตาซึมได้แบบนี้มานานแล้ว
และจุดที่ผมชอบมากอีกจุดก็คือ พล็อตของเรื่องนั้นค่อนข้างทันสมัย และสะท้อนภาพของสังคมปัจจุบัน อย่างที่เราทราบก็คือ โม่เซียงถงซิ่ว ผู้เขียนเรื่องนี้เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ งานของผู้เขียนจึงมีความร่วมสมัยบางอย่าง และเนื่องจากว่าเดิมทีนั้นเป็นงาน BL ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้หญิง จึงมีการแทรกแนวคิดแบบเฟมินิสม์ลงไปได้อย่างแยบยลและไม่เคอะเขิน รวมถึงการตั้งคำถามต่อขนบธรรมเนียมบางอย่างที่เราคาดไม่ถึง ทำให้ผลงานเรื่องนี้ ถูกใจคนรุ่นใหม่ที่เริ่มหันมาสนใจงานแนวกำลังภายในโบราณ ในขณะที่แฟนกำลังภายในแบบดั้งเดิม ก็สามารถเปิดใจรับชมได้ไม่ยากนัก และอาจเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ผลงานจีนกำลังภายในกลับมาคึกคักในกลุ่มแฟนๆ ชาวไทยได้อีกครั้ง เพราะกระแส ปรมาจารย์ลัทธิมาร ในปีที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เล่นๆ จริงๆ