อันที่จริง ผมควรจะพูดถึง “เรื่องฝันปั่นป่วยของผมกับรุ่นพี่บันนี่เกิร์ล” (ปั่นป่วยจริงๆ ไม่ได้เขียนผิด) หรือ Seishun Buta Yarō wa Banīgāru Senpai no Yume o Minai ตั้งแต่ปลายปี 2018 เพราะตอนนั้น AIS PLAY เอาอนิเมเรื่องนี้มาลงให้ดูกันเร็วชนต้นฉบับญี่ปุ่นเลยครับ แต่ตอนนั้นดูไปได้ 1 ตอนแล้วดรอป ไม่ได้ดูต่อ อาจเพราะไม่รู้สึกอินมากนัก แต่พอมาปีนี้อนิเมเรื่องนี้ถูกเอามาลง Netflix แล้วได้มีโอกาสดูรวดเดียวจบ กลับรู้สึกว่า มันน่าสนใจนะ ไม่น่าเผลอดรอปไปจนดูช้าไปปีกว่าเลย
สำหรับอนิเมเรื่อง Seishun Buta Yarō wa Banīgāru Senpai no Yume o Minai นี้ จริงๆ เป็นชื่อเรื่องที่มาจากนิยายเล่มแรกของนิยายชุด Seishun Buta Yarō หรือ Aobuta (青ブタ) ซึ่งตัวนิยายแค่ละเล่มนั้นก็จะมีชื่อต่างกันไป (ตามลักษณะเด่นของตัวละครหญิงในบทนั้น) แต่ตัวอนิเมนั้นใช้ชื่อตามนิยายเล่มแรกเลย จะได้ไม่สับสนกัน ซึ่งผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ก็คือ ฮาจิเมะ คาโมชิดะ ผู้เขียนนิยายชุด Sakura-sō no Petto na Kanojo ที่เคยโด่งดังอยู่ช่วงหนึ่งนั่นเองครับ
สำหรับเนื้อเรื่อง ถ้าดูแค่ตอนแรกๆ อาจจะงงๆ เอื่อยๆ หน่อย (ผมเลยดรอปไปช่วงหนึ่ง) แต่พอดูไป 2-3 ตอนแล้วกลับสนุกมากครับ โดยแกนเรื่องจะอยู่ที่อาการผิดปกติที่เรียกกันว่า “ภาวะผิดปกติในวัยรุ่น” ที่ตอนแรกเหมือนจะเป็นแค่เรื่องเล่าที่ลือกันในเน็ต แต่ อาซาสะกาวะ ซาคุตะ ตัวเอกของเรื่องกลับเข้าใจถึงเรื่องนั้นเป็นอย่างดี เพราะตัวเขาเองก็เคยมีประสบการณ์กับ “ภาวะผิดปกติในวัยรุ่น” มาก่อน และเขาก็ได้พบว่า ซากุราจิมะ ไม รุ่นพี่ ม.6 ที่โด่งดังเคยเป็นถึงดาราเด็กชื่อดังแต่กลับประสบกับภาวะผิดปกติในวัยรุ่นจนกลายเป็นคนไร้ตัวตนจนกระทั่งไม่มีใครสังเกตเห็นนอกจากตัวซาคุตะ ซึ่งนั่นทำให้เจ้าตัวพยายามที่จะหาทางช่วยเหลือรุ่นพี่ ซากุราจิมะ ให้กลับมามีตัวตนอีกครั้ง
พล็อตเรื่องตอนแรกนั้นให้ความรู้สึกเหมือนตอนดู Bakemonogatari (ปกรณัมของเหล่าภูต) ผสมกับ สึซึมิยะ ฮารุฮิ ตรงทีตัวเอกต้องเข้าไปแก้ปัญหาความผิดปกติของเหล่าคนหนุ่มสาว ต่างกันที่ความผิดปกติของ Bakemonogatari นั้นเกิดจากปีศาจภูตผี แต่ Seishun Buta Yarō เกิดจากปมที่อยู่ในจิตใจของแต่ละคนเอง ซึ่งตัวละครหลักในเรื่องล้วนแต่มีปมปัญหาที่แฝงอยู่ในจิตใจที่ต้องเข้าไปแก้ไข รวมถึงตัวเอกเองด้วย ซึ่งนั่นทำให้เราได้เห็นพัฒนาและการเติบโตของเหล่าตัวละครหนุ่มสาวในเรื่องที่มีความน่าสนใจ และการก้าวข้ามผ่าน “ภาวะผิดปกติในวัยรุ่น” ที่เกิดจากความเจ็บปวดในใจที่ทุกคนต้อง Move On ผ่านไปให้ได้
สิ่งทที่ผมค่อนข้างชอบคือการออกแบบตัวละครและคาแรกเตอร์ในเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างมีมิติ มีความลึกซึ้ง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับซับซ้อนจนเกินไปนัก และยังมีมุมมองต่อวัยรุ่นในเชิงบวก โดยเฉพาะประเด็นการก้าวผ่านอุปสรรคในใจของตัวเองไปให้ได้ ในขณะที่ตัวอนิเมนั้นก็ได้ CloverWorks ซึ่งแยกตัวมาจาก A-1 Pictures มาทำให้ (เดิมคือ A-1 Pictures’ Kōenji Studio ซึ่งเป็นสตูดิโอย่อยของ A-1 Pictures อีกที) ซึ่งงานภาพก็ถือว่าโอเคเลยครับ ใครที่อยากจะลองชมก็เพิ่งลงใน Netflix ให้ชมกันอยู่ในตอนนี้ หรือถ้าใครชอบอ่านนิิยายมากกว่า ก็มีไลท์โนเวลให้ลองอ่านกันด้วยนะ ออกมาได้ 3-4 เล่มละ นอกจากนี้ก็ยังเคยถูกสร้างเป็นหนังโรงและฉายในบ้านเราแบบจำกัดโรงไปแล้วด้วย นึกแล้วก็เสียดายอยู่เหมือนกันที่ไม่ได้ไปดูในโรง…ก็หวังว่า Netflix คงเอามาให้ดูด้วยนะ