สรุปส่งท้ายมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ปีนี้รุ่งหรือรอด

ผ่านไปแล้วนะครับสำหรับมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ซึ่งเป็นงานหนังสืออย่างเป็นทางการครั้งที่สอง (ไม่นับงานเล็ก) ที่ย้ายมาจัดที่อิมแพค เมืองทองธานี แทนศูนย์ประชุมฯ ที่ปิดปรับปรุงนานหลายปี ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเคยเขียนรีวิวงานหนังสือครั้งนี้ไว้แล้ว แต่นั่นเป็นวันแรกๆ ของงาน ซึ่งคงยังเดากันไม่ออกว่า งานจะเป็นอย่างไร แต่จนถึงตอนนี้ตัวงานก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็คงได้เวลาที่จะมาสรุปงานและพูดคุยกันสักหน่อยว่า ภาพรวมของงานครั้งนี้ ออกมาในรูปไหน

สารพัดอุปสรรค โควิด-ปิดเทอม

ผมคงจะไม่พูดเรื่องการเดินทางไปอิมแพคแล้ว เพราะคิดว่าพูดกันมาหลายรอบ และเราต่างก็รับรู้กันดีแล้วว่า การย้ายงานมาอิมแพค อาจจะทำให้คนมางานลดลง เนื่องจากรถไฟฟ้ายังไปไม่ถึง (ในปีนี้) แต่นอกจากเรื่องนี้แล้ว ก็มีเรื่องโควิด-19 นี่แหละครับ แม้ว่าตอนนี้หลายๆ คนอาจจะเริ่มชินกับสภาวะ New Normal กันแล้ว แต่มันก็ยังมีผลกระทบในด้านอื่น เช่น บูธนิทรรศการ-หนังสือจากต่างประเทศลดลง เพราะเดินทางมาไม่ได้ (แต่ก็มีนะ คือให้คนไทยจัดให้แทน) แต่ผลกระทบอีกจุดหนึ่งก็คือ โควิด-19 ทำให้เกิดการเลื่อนปิดเทอมให้ช้าลง จากเดิมที่งานหนังสือจะจัดชนกับช่วงปิดเทอม กลายเป็นว่ารอบนี้เด็กๆ ยังเปิดเทอมอยู่ ไม่สามารถมางานวันธรรมดากันได้ จะมางานได้ก็เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ส่วนวันธรรมดานั้นเงียบกริบ ยิ่งไม่มีรถไฟฟ้าด้วย โอกาสที่คนทำงานจะแวะมาในช่วงเย็นยิ่งยากเข้าไปอีก นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องพายุฝนที่ดันเข้ามาช่วงนี้อีกนะ

เสาร์-อาทิตย์ คนยังเยอะอยู่

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ผมเคยพูดไว้ว่า โควิด-19 ให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจกับคนในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับคนที่มีรายได้ประจำ ทำงานราชการ อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนทำงานเอกชน และเมื่อเทียบกับคนในธุรกิจท่องเที่ยว-บริการก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะบางคนรายรับแทบจะเป็น 0 จากการปิดประเทศ ซึ่งบ้านเรามีรายได้จากภาคท่องเที่ยวประมาณ 30% ของ GDP ดังนั้นตีคร่าวๆ ว่า เงินหมุนเวียนในประเทศเราหายไป 30% คนก็ย่อมจับจ่ายน้อยลง เท่าที่ได้ทราบมาคือ คนที่มาซื้อใช้เงินต่อบูธลดลง และใช้บัตรเครดิตกันมากขึ้นกว่าครั้งก่อน

บางส่วนของนิทรรศการในงาน

ไม่มีหนังสือระดับ Flagship

จุดสังเกตหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ก็คือ ปีนี้เหมือนจะไม่มีหนังสือที่เป็นไฮไลท์ของงานที่เรียกแขกให้คนไปซื้อหนังสือกันจริงๆ จังๆ หรือมีหนังสือที่ขายในงานได้ในหลักพันหรือหมื่นเล่ม เหมือนที่ก่อนหน้านั้นเราเคยมียุคแฮรี่พอตเตอร์ (นี่ก็เก่าเกินไปนิด) มียุคทองของหนังสือดารา (และยุคทองของ Ghost Writer ด้วย) มียุคทองของไลท์โนเวล(ยุค SAO ใหม่ๆ) มีบุพเพสันนิวาส (กระแสทีวี) หรือใหม่ๆ หน่อยก็ช่วงปรมาจารย์พิชิตมารเมื่อปีก่อน แต่ปีนี้ถ้านึกถึงหนังสือที่เป็นไฮไลท์ของงานจริงๆ ผมนึกไม่ออกเลยนะ หนังสือที่เราเปิด facebook แล้วเจอคนโพสต์เต็มไปหมด หรือติด trend ทวิตเตอร์ในปีนี้นี่ ผมนึกไม่ออกจริงๆ เอาแค่หนังสือซีไรท์ปีนี้เล่มไหนได้ และขายอยู่บูธไหน ผมยังนึกไม่ออกเลย ส่วนนิทรรศการโนกองดอง โดยส่วนตัวผมว่ามันเหมือนจะแป้กๆ นะ

หนังสือระดับตำนานก็มีขาย

กลุ่มคนอ่านที่เปลี่ยนไป-กลุ่มเดิมไปออนไลน์

สิ่งที่เราต้องยอมรับกันก็คือ กลุ่มคนเดินอิมแพค กับกลุ่มคนเดินศูนย์ประชุมฯ จริงๆ แล้วคือคนละกลุ่มกัน อิมแพคเป็นศูนย์แสดงสินค้าที่สะดวกสบายสำหรับครอบครัว คนมีรถยนต์ คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น (เมืองทอง ปากเกร็ด ดอนเมือง) ซึ่งหลายบูธก็พูดคล้ายๆ กันว่า มีกลุ่มคนอ่านหน้าใหม่ๆ มากขึ้น ตรงนี้หากมองอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นโอกาสที่จะขายฐานลูกค้าได้ ในขณะที่ผู้อ่านกลุ่มเดิมที่เคยมาประจำ หลายๆ คนก็หันไปสั่งซื้อออนไลน์แทน ซึ่งแว่วว่าปีนี้ขายออนไลน์ดีขึ้นกว่าเดิมนะ และหลายๆ สำนักพิมพ์ที่ไม่ได้ตามมาที่อิมแพค ก็เน้นขายออนไลน์กันมากขึ้นด้วย

ตัวเอกรอบนี้คือ หนังสือลดราคา

ไม่ใช่งานหนังสือครั้งสุดท้ายของปี

แม้โดยปกติแล้ว งานมหกรรมหนังสือฯ เดือนตุลา จะเป็นงานหนังสือสุดท้ายของปี ที่จะต้องรออีกหลายเดือนกว่าจะถึงงานครั้งต่อไป แต่ในปีนี้เรายังมีงานหนังสือตามต่างจังวัดตามมาอีก และแว่วว่าจะมีงานหนังสือที่สามย่าน (ซึ่งผู้จัดไม่ใช่สมาคมฯ) ส่งท้ายปลายปีอีก (ยังไม่คอนเฟิร์ม) งานมหกรรมหนังสือฯ จึงอาจจะไม่ใช่งานส่งท้ายปีอย่างที่หลายๆ คนคิด หลายๆ สำนักพิมพ์จึงอาจจะไม่ได้ทุ่มกับงานนี้มาก อย่างที่ทราบบางสำนักพิมพ์ก็ลดขนาดบูธลง บางสำนักพิมพ์ก็ไม่มาเลย (เพราะมองว่าไม่คุ้ม) ซึ่งตรงนี้คงเป็นการบ้านที่ทางสมาคมฯ จะต้องกลับไปคิดกันว่า งานสัปดาห์หนังสือปีหน้า จะออกมาในรูปแบบไหน เพราะคิดว่ายังไงเราก็คงต้องอยู่กันที่นี่อีกสักพักใหญ่ๆ แหละครับ อย่างน้อยก็คงต้องรอศูนย์ประชุมฯ โฉมใหม่เสร็จก่อนค่อยว่ากันอีกที…(ซึ่งไม่ใช่ปีหน้าแน่ๆ)