Kanata no Astra (หรือ Astra Lost in Space) เป็นอนิเมที่ผมเชื่อว่า หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไปด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ซึ่งตอนแรกผมก็เกือบพลาดชมอนิเมเรื่องนี้ไปแล้ว ถ้าไม่เผลอสังเกตว่า คนเขียนเวอร์ชั่นคอมมิคเรื่องนี้ก็คือ ชิโนฮาระ เคนตะ ผู้เขียน Sket Dance ซึ่งเป็นการ์ตูนเรื่องโปรดผมนั่นเอง
อันที่จริงในเรื่อง Sket Dance ก็มีหลายๆ ตอนที่บ่งบอกว่า อ.ชิโนฮาระ สนใจเรื่องอวกาศ และยานอวกาศเป็นพิเศษ แต่การหักดิบเปลี่ยนแนวจากการ์ตูนนักเรียน ม.ปลาย มาเป็นการ์ตูนไซไฟอวกาศเต็มรูปแบบ ก็ยอมรับครับว่า คาดไม่ถึงเหมือนกัน แม้ว่าโดยแก่นแล้ว Kanata no Astra มันก็เหมือน Sket Dance เวอร์ชั่นอวกาศ ทั้ง Mood&Tone ฉากดราม่า การตบมุก ไปจนถึงปมของตวละครแต่ละคนนี่ก็หนักหน่วงชวนอึ้งไม่แพ้ตอนเปิดเผยปมของแต่ละคนในเรื่อง Sket Dance เลย..ไม่สิ ผมว่าเรื่องนี้ จะหนักหนาสาหัสกว่าด้วยซ้ำไป
พล้อตเรื่องก็จะเป็นเหตุการณ์ในโลกอนาคต เมื่อเด็กมัธยมโรงเรียน Caird 9+1 คน ต้องออกไปทัศนศึกษาในอวกาศ 5 วันที่ดาว McPa ซึ่งเป็นดาวสำหรับการออกค่ายพักแรมสำหรับนักเรียนโดยเฉพาะ ทว่าพวกเขากลับถูกวัตถุทรงกลมลึกลับดูดเข้าไป และพาพวกเขาล่องลอยไปยังกลางอวกาศที่อยุ่ห่างจากดาวบ้านเกิดของเขา 5 พันปีแสง โชคดีที่พวกเขาได้พบกับยานอวกาศลึกลับลำหนึ่งลอยอยุ่ใกล้ๆ จึงได้ตั้งชื่อยานลำนั้นว่า Astra และใช้มันเป็นยานพาหนะในการเดินทางกลับบ้านที่อยู่ไกลแสนไกล โดยต้องแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปด้วย
พล็อตเรื่องนั้นก็ดูเหมือนกับพล็อตซ้ำๆ เดิมๆ ที่ใช้กันอยู่ในอนิเมและการ์ตูนแนวไซไฟหลายๆ เรื่อง แต่ที่น่าสนใจก็คือ การเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง และมีจุดหักมุมแทบจะทุกตอน จนไม่สามารถเล่าเรื่องย่ออะไรที่ละเอียดไปกว่านี้ได้เลยครับ แม้ช่วงแรกๆ แนวทางจะเป็นเหมือนกับเกมฮิตอย่าง Among Us ที่เล่นประเด็นว่าในหมู่พวกเรา ต้องมีคนทรยศ (imposter) ซึ่งต้องหาให้เจอว่าเป็นใคร แต่สาเหตุของการทรยศนั้นกลับเป็นเรื่องที่ไปไกลและสาหัสกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะช่องโหว่มากมายของเนื่อเรื่องในช่วงแรกๆ ที่ตอนแรกผมนึกว่าเป็น plot hole ด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายปมและช่องโหว่ที่ค้างคาทั้งหมดแต่แรกกลับคลี่คลายได้อย่างลงตัว ซึ่งต้องชมผู้เขียนต้นฉบับเรื่องนี้ว่า ออกแบบและวางโครงเรื่องไว้ได้อย่างดีมาก
และก็เหมือนที่ผมบอกไว้แต่แรก ว่านี่เป็น Sket Dance เวอร์ชั่นอวกาศ ก็คือเนื้อเรื่องแม้จะเป็นไซไฟ แต่ก็เน้นไปที่มิตรภาพของตัวละครอย่างชัดเจน แถมยังพ่วงความพยายามและชัยชนะตามสูตรการ์ตูนจัมป์ลงไปด้วย และที่น่าสนใจก็คือ แม้จะมีตัวละครหลักค่อนข้างเยอะ (9+1) แต่ก็กระจายบทได้อย่างลงตัว ทั้งที่ตัวละครทุกตัวต่างก็มีปมหนักๆ ที่ต้องเคลียร์ แต่สุดท้ายก็สามารถคลี่คลายได้จบใน 12 ตอน (ตอนแรกกับตอนสุดท้าย ยาว 50 นาที) ซึ่งถือได้ว่าเป็นอนิเมอีกเรื่องที่ดัดแปลงเนื้อเรื่องในคอมมิคความยาว 5 เล่มจบออกมาได้อย่างลงตัวที่สุดเรื่องหนึ่ง
Kanata no Astra ฉบับคอมมิคนั้นได้รางวัลชนะเลิศ Manga Taishō Awards ครั้งที่ 12 และติดอันดับ 3 การ์ตูนแนะนำอ่านของ Kono Manga ga Sugoi! ปี 2019 ส่วนตัวอนิเมก็ได้รางวัลยอดเยี่ยม Seiun Award ครั้งที่ 51 ด้วย แม้ตัวคอมมิคจะไม่มีลิขสิทธิ์ในบ้านเรา แต่ตัวอนิเมที่สร้างโดยสตูดิโอ Lerche นั้นสามารถหาชมได้ทาง Netflix นะครับ หรือใน Channel ของ Ani-One (youtube) ก็มีให้ดูฟรีครับ (แต่เป็นซับ eng นะ) ถ้ามีโอกาสก็ขอแนะนำให้ลองชมกันดูครับ