Kono Oto Tomare! ฝากฝันไว้ที่เสียงโคโตะ!

Kono Oto Tomare เป็นอนิเมปี 2019 ความยาว 26 ตอนอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนขายดีที่ตีพิมพ์ประจำอยู่ใน Jump Square ของ สนพ.ชูเอย์ฉะ ซึ่งดูจากลายเส้นและเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน หลายๆ คนอาจจะนึกว่ามันเป็นการ์ตูนผู้หญิง แต่อันที่จริงนี่เป็นการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชายที่ยึดมันในแนวทาง มิตรภาพ ความพยายาม ชัยชนะ ตามสูตรสำเร็จของค่ายจัมป์อย่างเต็มเปี่ยม

เรื่องราวก็เกี่ยวกับมิตรภาพในกลุ่มนักเรียนมัธยมปลาย ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วย โคโตะ เครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่น คุโด้ จิกะ ตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กนักเลงที่มีปู่เป็นช่างทำโคโตะ แต่เจ้าตัวกลับนำพาความซวยมาหาปู่ เมื่อนักเลงคู่อริมาพังบ้านปู่แล้วตำรวจยังคิดว่าจิกะเป็นต้นเหตุอีก แต่พอจิกะเข้าเรียน ม.ปลายที่โรงเรียนมัธยมปลายโทกิเสะ เขาก็ได้เข้าชมรมโคโคะที่ตอนนั้นเหลือ คุราตะ ทาเคโซ เป็นสมาชิกชมรมเพียงคนเดียว และก็ได้พบกับ โฮซึกิ ซาโตวะ เด็กสาวทายาทโรงเรียนโคโตะชื่อดัง และได้ร่วมมือกันที่จะฟื้นฟูชมรมโคโตะขึ้นมาอีกครั้ง

คุโด้ จิกะ และ โฮซึกิ ซาโตวะ

ทว่าการที่ชมรมโคโตะจะได้รับการยอมรับนั้น จิกะจะต้องต่อสู้กับอคติที่คนอื่นมีต่อตัวเขา ที่เคยเป็นนักเลงที่เอาแต่ต่อยตีกับคนอื่น ในขณะที่โฮซึกิเองก็มีประเด็นดราม่ากับที่บ้าน ส่วนคุราตะก็โดนเพื่อนๆ มองว่าเป็นตุ๊ดเป็นแต๋ว เพราะปกติชมรมโคโตะมักจะมีแต่สมาชิกผู้หญิงเป็นหลัก (ในเรื่อง คุราตะ มักจะถูกเพื่อนๆ ล้อว่า นาเดชิโกะ ซึ่งหมายถึงกุลสตรีญี่ปุ่น) และเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะต้องรับหน้าที่เป็นประธานชมรมต่อจากรุ่นพี่ ทั้งที่เจ้าตัวก็ไม่ได้เล่นเก่งสักเท่าไหร่

การพบกันของตัวละครที่มีจุดบกพร่องที่แตกต่างกัน โดยมีจุดเชื่อมโยงคือโคโตะ ได้กลายเป็นส่วนเติมเต็มให้แต่ละคนเติบโตขึ้น จนทำให้ชมรมกลับมาเข้มแข็ง กล้าที่จะวาดฝันที่จะเข้าแข่งขันในระดับประเทศ ตามสูตรสำเร็จของการ์ตูนเด็กผู้ชายค่ายจัมป์ (มิตรภาพ-ความพยายาม-ชัยชนะ) แต่แน่นอนครับว่า จากคนที่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน แล้วต้องมาแข่งขันกับคนที่มีประสบการณ์ทางดนตรีมาเป็นสิบปี มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

โฮซึกิ ซาโตวะ อัจฉริยะโคโตะ

จุดที่น่าสนใจของการ์ตูนแนวดนตรีก็คือ นอกจากจะได้เห็นการเติบโตของตัวละคร ได้เห็นพัฒนาการในการข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ด้วยพลังมิตรภาพตามสูตรสำเร็จแล้ว เพลงโคโตะในเรื่องยังทำออกมาได้เพราะมากๆ ซึ่งตอนอ่านการ์ตูนเราก็จินตนาการกันไม่ค่อยออก เสียงโคโตะเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่พอมาดูอนิเมแล้วได้พลังเพลงโคโตะ ก็รู้สึกว่า มันเพราะดีนะ แถมแต่ละโรงเรียน ก็มีแนวทางการบรรเลงโคโตะที่แตกต่างกันไป และได้เห็นความลึกซึ้งของเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างโคโตะ ที่ก่อนนั้นแทบจะไม่รู้จักมาก่อนด้วยซ้ำ

ในส่วนของตัวอนิเมผลิตโดย Platinum Vision สตูดิโอหน้าใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้แค่ 4 ปี แต่ก็มีผลงานที่พอจะผ่านตากันมาบ้างอย่าง Saiyuki Reload Blast หรือ Servamp เป็นต้น ซึ่งงานภาพก็ถือว่าทำได้ดีอยู่ในระดับหนึ่ง ยิ่งอนิเมแนวดนตรีที่ต้องเน้นการเคลื่อนไหวของนิ้วมืออย่างโคโตะนี่ถือว่าทำได้ดีเลย แต่ในช่วงหลังๆ ก็แอบเห็นงานเผาหลุดมาให้เห็นอยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งถ้าใครอยากชมตอนนี้ก็มีให้ดูกันทาง Netflix นะครับ เป็นอนิเมอีกเรื่องที่ดูแล้วต้องดูให้จบรวดเดียว และต้องคอยลุ้นกันต่อด่วยว่า จะมีภาคต่อหรือเปล่า เพราะคอมมิคมีตั้ง 22 เล่ม ยอดขายสูงทะลุ 4.5 ล้านเล่มไปแล้ว แถมยังไม่จบด้วย..