ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่

ก่อนที่โทริยามะ อากิระ จะโด่งดังไปทั่วโลกจากดราก้อนบอล เขาเคยประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดจากการ์ตูนเรื่อง ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ มาก่อน ซึ่งไม่น่าเชื่อครับว่า มาจนถึงปี 2021 การ์ตูนเรื่องนี้จะมีอายุถึง 41 ปี และฉบับการ์ตูนอนิเมก็จะครบรอบ 40 ปีในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ ถือเป็นการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่ง ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นแห่งชาติของไทยที่ใครๆ ก็รู้จัก เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ถูกนำมาฉายซ้ำทางทีวีบ้านเราบ่อยมากครับ ทั้งที่ตัวอนิเมเองก็เรียกได้ว่าเก่ามาก (แน่นอน ไม่ใช่ HD) แถมที่น่าแปลกใจก็คือ การ์ตูนอนิเมเรื่องนี้เคยถูกรีเมคมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1997 แต่เวอร์ชั่นรีเมคกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าเวอร์ชั่น 1981 แถมแทบไม่เคยถูกนำมาฉายซ้ำเลย

สำหรับโครงเรื่องของการ์ตูนเรื่องนี้ ก้จะเป็นการ์ตูนแก๊กตลกหลุดโลกที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเพนกวิน หมู่บ้านเล็กๆ บนเกาะเก็งโกโร่ ที่มีนักประดิษฐ์สุดเพี้ยน โนริมากิ เซ็มเบ้ ฉายา ดร.สลัมป์ สร้างหุ่นยนต์รูปแบบเด็กผู้หญิงแต่มีพลังมหาศาลแถมสายตาสั้นชื่อว่าอาราเล่ขึ้นมา แม้ว่านิสัยของอาราเล่จะเพี้ยนๆ แต่เอาจริงๆ ชาวหมู่บ้านนี้มันก็เพี้ยนทั้งหมู่บ้านแหละครับ ตั้งแต่ตำรวจ ครู นักเรียน อันธพาล ยันมนุษย์ต่างดาว ไม่มีใครปกติเลยสักคน แต่มันก็กลายเป็นความลงตัวที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้คาดเดาอะไรไม่ได้จนกลายเป็นผลงานทีประสบความสำเร็จสร้างชื่อให้ โทริยามะ อากิระ ดังเป็นพลุแตก

อาราเล่เป็นหุ่นยนต์ เลยถอดหัวเล่นได้

เนื่องด้วยการ์ตูนเรื่องนี้เป็นการ์ตูนตลกหลุดโลก ทำให้ อ.โทริยามะ อยากจะยัดอะไรที่แกชอบลงไปในเรื่อง แกก็ทำได้ อาราเล่จะต่อยโลกแตกก็ทำได้ (ตอนต่อมาก็กลับเหมือนเดิม) อุลตร้าแมน ซูเปอร์แมน ก็อตซิลล่า กาเมร่า รถถัง เครื่องบิน พี่ท่านยัดลงไปในหมู่บ้านเพนกวินได้หมดโดยคนอ่านไม่รู้สึกขัดแย้ง กระทั่ง บก.ของตัวเอง (โทริชิมะ) อ.โทริยามะก็จับมาเป็นตัวร้ายได้หน้าตาเฉย (แถมกลายเป็นตัวละครหลักที่มีบทเด่นยันตอนจบเลยด้วย)

อาราเล่ข้ามเรื่องไปโผล่ในดราก้อนบอล ยันภาคล่าสุด

ผลงานเรื่องนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนโชเน็นจัมป์ช่วงปี 1980-1984 ถูกสร้างเป็นการ์ตูนทีวี 2 ครั่้ง และยังข้ามไปมีบทบาทในการ์ตูนเรื่องดราก้อนบอลตั้งแต่ภาคแรกยันภาคล่าสุด (ภาคซูเปอร์) ส่วนในบ้านเราก็อย่างที่บอกครับว่า นอกจากจะถูกนำมาออกอากาศซ้ำบ่อยมากแล้ว ชื่อของนักพากย์ชื่อดังในบ้านเราอย่าง น้าต๋อยเซมเบ้ ก็มีที่มาจากการ์ตูนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

คำว่าอุนจิ ก็มีที่มาจากการ์ตูนเรื่องนี้นี่แหละ

มีเรื่องเล่านิดหนึ่ง ก็ตรงที่ตอนที่ อ.โทริยามะ ตัดสินใจจบการ์ตูนเรีื่องนี้ ก็มีคนบ่นเสียดายกันเยอะมาก และพอมาเขียนดราก้อนบอลช่วงแรกๆ ก็ยังมีกลิ่นอายจาก ดร.สลัมป์อยู่ในเรื่องไม่น้อย จนหลายๆ คนเอาไปเปรียบเทียบว่าดราก้อนบอล(ยุคแรก)ไม่สนุกเท่า ดร.สลัมป์ แต่พอต่อมาโทนเรื่องของดราก้อนบอล เริ่มฉีกแนวไปทางแอคชั่นจริงจังมากขึ้น ก็กลับยิ่งประสบความสำเร็จได้รับความนิยมจนทำให้ดราก้อนบอลกลายเป็นตำนานที่สามารถข้ามผ่านความสำเร็จของ ดร.สลัมป์ไปได้ แต่สำหรับแฟนๆ การ์ตูนแล้ว ทั้งสองเรื่องต่างก็เป็นตำนานที่น่าจดจำและควรถูกยกขึ้นหิ้งด้วยกันทั้งคู่แหละครับ