10 ปี Tiger & Bunny

หลังจากที่ Tiger & Bunny ถูกนำกลับมาฉายใน Netflix ก็เริ่มทำให้มีกระแสพูดถึงอนิเมเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งอันที่จริง ปีนี้ก็ถือเป็นวาระครบรอบ 10 ปี Tiger & Bunny พอดี (ออกอากาศครั้งแรก 3 เมษายน 2011) และมีข่าวออกมาด้วยว่า จะมีการสร้าง Tiger & Bunny 2 ออกอากาศปีหน้า ก็เลยอยากจะขอย้อนรำลึกถึงเรื่องนี้กันสักหน่อย

ไวลด์ ไทเกอร์

Tiger & Bunny เป็นผลงานสุดครีเอทของซันไรส์ ในการสร้างสรรค์การ์ตูนฮีโร่แนวใหม่ ที่ฮีโร่ในเรื่อง นอกจากจะออกต่อสู้กับเหล่าร้ายแล้ว ยังต้องรับบทบาทเป็นตัวเอกในรายการเรียลลิตี้โชว์เรียกคะแนนนิยมด้วย โดยเหตุการณ์ในเรื่องจะเกิดขึ้นในเมืองที่มีชื่อว่า สเติร์นบิลด์ ซึ่งมีมนุษย์ที่มีพลังพิเศษถือกำเนิดและอาศัยอยู่มากมาย โดยเราจะเรียกมนุษย์ที่มีพลังพิเศษว่า “เน็กซ์” ซึ่งเน็กซ์บางคนก็จะกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่คอยปกป้องเมือง ทว่าก็ดันมีเน็กซ์อีกส่วนหนึ่งที่ใช้พลังไปในทางที่ผิดจนเกิคความวุ่นวายไปทั่ว

เหล่าฮีโร่ในเรื่อง ออกแบบตัวละครโดย คนวาด Wingman

และก็อย่างที่บอกไว้แต่แรกว่า ที่เมืองสเติร์นบิลด์นี้ นอกจากฮีโร่แล้วก็ยังมีรายการโทรทัศน์ยอดนิยมชื่อว่า “ฮีโร่ทีวี” คอยถ่ายทอดสดการปราบปรามเหล่าร้ายของเหล่าฮีโร่ และยังมีการเก็บแต้มสะสมคะแนนเพื่อที่จะหา “คิง ออฟ ฮีโร่” ในฤดูกาลนั้นด้วย ก็คล้ายกับพวก AF หรือเดอะสตาร์นั่นแหละครับ แต่เปลี่ยนจากร้องเพลงมาปราบเหล่าร้ายแทน

สวมเกราะที่เต็มไปด้วยสปอนเซอร์

เท่านั้นยังไม่พอ การปราบเหล่าร้ายนั้นก็ต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากบริษัทรายใหญ่ในการทำชุดและเครื่องมือต่างๆ และยังต้องคอยโชว์ยี่ห้อของสปอนเซอร์ทั้งหลายให้เห็นชัดๆ ด้วย (ว่าง่ายๆก็โฆษณานั่นแหละ) เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้เราก็จะเห็นโลโก้โฆษณาบริษัทสินค้าต่างๆ เต็มหน้าจอไปหมด แถมยังเป็นบริษัทที่มีอยู่ในโลกเราจริงๆ ด้วย (พูดง่ายๆ ก็คือโฆษณาแฝงนั่นเอง) ทว่าใน ver Netflix ที่เราได้ดูกันนั้น สปอนเซอร์เหล่านี้กลับถูกลบทิ้งเกลี้ยง ทำให้เวลาดูชุดเกราะของเหล่าฮีโร่ในเวอร์ชั่นนี้จะรู้สึกโล่งๆ แปลกๆ (เพราะของเดิมมีโฆษณาแปะอยู่ไงล่ะครับ)

เดิมทีเป็นฮีโร่รุ่นลุงสุดเชย

ส่วนตัวเอกของเรื่อง ก็เป็นหนึ่งในเหล่าฮีโร่รุ่นเก๋าที่คอยปกป้องเมืองสเติร์นบิลด์ ชื่อว่า “ไวล์ด ไทเกอร์” ที่หลังๆ เริ่มเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะแก่จวนเป็นตาลุงแล้ว ยังอยู่อันดับเกาะกลุ่มท้ายตารางมาตลอด เพราะเจ้าตัวขยันสร้างความเสียหายให้บ้านเมืองมากกว่าทำผลงานเก็บคะแนน แถมบริษัทที่คอยสนับสนุนเงินให้ก็ดันขาดทุนจนโดนเทคโอเวอร์ไปอีก

ไทเกอร์ล้อบาร์นาบี้ว่า บันนี่จัง

ด้วยเหตุนี้บริษัทผู้สนับสนุนรายใหม่ของไวล์ด ไทเกอร์ จึงตัดสินใจจับคู่ ไวล์ด ไทเกอร์ กับฮีโร่รุ่นใหม่ใหม่หน้าใส “บาร์นาบี้ บรู๊ค จูเนียร์ ” เพื่อให้ไวล์ด ไทเกอร์ ที่เป็นรุ่นเก๋าประสบการณ์คอยสนับสนุนบาร์นาบี้ให้แจ้งเกิดในวงการให้ได้ เพราะทั้งสองต่างก็มีพลังพิเศษคล้ายกัน (พลังเหนือมนุษย์แบบจำกัดเวลา) แต่นิสัยทั้งสองนั้นกลับต่างกันสุดขั้ว แถมบาร์นาบี้ยังมาเป็นฮีโร่ด้วยเหตุผลแอบแฝงที่ต้องการจะสืบสวนความจริงเกี่ยวกับสาเหตุการตายของครอบครัวตัวเองอีกต่างหาก

คู่หูคนละขั้ว

ด้วยพล็อตเรื่องแนวคู่หู่ที่ต่างกันแบบสุดๆ รวมกับพล็อตพลังพิเศษ กับการตีแผ่วงการมายาทีวีที่เข้มข้นสุดๆ (โดยเฉพาะช่วงท้ายเรื่อง) ทำให้ผลงานเรื่องนี้เป็นอนิเมที่โด่งดังสุดๆ อีกเรื่องหนึ่งในยุคนั้น ถึงขนาดมีการสร้างหนังโรงออกมาอีกสองภาค (Beginning / Rising) และยังมีฟิกเกอร์ ของเล่นจากค่าย ฺBandai ที่เป็นสปอนเซอร์หลักของภาคนี้อีก ก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมต้องรอถึง 10 ปีกว่าจะตัดสินใจทำภาคต่อออกมา แต่ถ้าใครยังไม่เคยดูภาคแรก ก็แนะนำเลยครับ ตอนนี้ยังมีให้ดูทาง Netflix เสียดายที่เป็นเวอร์ชั่นไม่มีสปอนเซอร์ มันเลยดูประหลาดแบบแปลกตาไปหน่อย แต่ถ้าใครไม่เคยดูมาก่อนอาจจะชอบก็ได้