[ดูจบแล้ว] Mobile Suit Gundam: Hathaway’s Flash

แม้เราจะรู้กันว่า Gundam นั้นเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ที่ทำเงินลำดับต้นๆ ของญี่ปุ่น แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่า ไม่มีภาพยนตร์ Gundam ที่ทำเงินเกิน 1,000 ล้านเยน มานานกว่า 30 ปีแล้ว จนกระทั่ง Mobile Suit Gundam: Hathaway’s Flash ออกฉายนี่แหละครับ ทั้งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องเลื่อนฉายมาหลายครั้งเพราะเจอปัญหาโควิด และยังมีเวลาฉายโรงแค่ไม่กี่วันก่อนที่ตัวหนังจะย้ายไปลงใน Netflix แต่สุดท้ายก็สามารถทำรายได้ทะลุพันล้านสมกับที่แฟนๆ รอคอยกันมานานได้สำเร็จ

Mobile Suit Gundam: Hathaway’s Flash เป็นภาพยนตร์ไตรภาคที่สร้างจากนิยายชื่อเดียวกัน แต่ตัวนิยายนั้นตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1989 โน่นเลยครับ โดยเนื้อเรื่องนิยายนั้นจะเป็นเหตุการณ์หลังจาก Mobile Suit Gundam: Char’s Counterattack (CCA)12 ปี โดยตัวเอกของเรื่องก็คือ ฮาซาเวย์ โนอา ลูกชายของกัปตัน ไบร์ท โนอา ที่แฟนๆ กันดั้มรู้จักกันดีครับ แต่ด้วยสาเหตุหลายๆ ประการ (มีปมมาตั้งแต่ภาค CCA) ได้ผลักดันให้ ฮาซาเวย์ โนอา กลายเป็นแกนนำของกองกำลังกบฏติดอาวุธ มัฟตี้ (Mafty) และมีนามแฝงว่า มัฟตี้ นบียู เอริน (Mafty Navue Erin) ที่ค่อยต้อต้านการปกครองของสหพันธ์โลกอยู่

ฮาซาเวย์ โนอา

และก็อย่างที่บอกครับ นิยายเรื่องนี้ เขียนมาตั้งแต่ปี 1989 หรือเขียนมาก่อนนิยายภาคยูนิคอร์นเสียอีก (แต่ยูนิคอร์นถูกสร้างเป็นอนิเมก่อน) ดังนั้นเนื้อเรื่องมันก็เลยอาจจะมีบางจุดที่ขัดๆ กันสักหน่อย เพราะในช่วงเวลา 12 ปีระหว่าง Char’s Counterattack กับ Hathaway’s Flash นั้น เดิมทีไม่มีภาคยูนิคอร์นอยู่ด้วย เพราะถูกเขียนแทรกไทม์ไลน์ขึ้นมาทีหลัง แต่เอาเป็นว่าเราจะคุยถึงเรื่องนี้โดยลืมๆ เหตุการณ์ในภาคยูนิคอร์นไปก่อนละกัน ไม่งั้นงงกันตายครับ เอาเป็นว่า Hathaway’s Flash นั้นถือเป็นภาคต่อของ Char’s Counterattack ซึ่งเหตุการณ์ในภาคนั้น ได้กลายเป็นแผลในใจของฮาซาเวย์ และพฤติกรรมเน่าเหม็นของสหพันธ์โลกภายหลังจากเนโอซีออนล่มสลาย ก็ทำให้เจ้าตัวหันมาอยู่คนละฝ่ายกับบิดาของตน ที่ยังคงมีตำแหน่งใหญ่โตอยู่ในสหพันธ์โลก

มัฟตี้ ต่อต้านสหพันธ์โลกด้วยความรุนแรง และมีเป้าหมายอยู่ที่ระดับแกนนำของฝ่ายสหพันธ์ แต่การปะทะกันของทั้งสองฝ่าย ก้ทำให้ประชาชนโดนลูกหลงไปด้วย ท่ำให้มีทั้งคนที่ศรัทราในมัฟตี้ ที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และแฉความเน่าเหม็นของรัฐบาลสหพันธ์ แต่ก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของมัฟตี้ และยังมีเหล่ามัฟตี้เทียมที่แอบอ้างชื่อมัฟตี้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองอีก

จนกระทั่ง ความขัดแย้งระหว่างมัฟตี้และสหพันธ์มาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อมัฟตี้ได้อาศัยเส้นสายภายในจนได้ครอบครอง RX-105 Ξ (Xi Gundam) หรือที่อ่านแบบญี่ปุ่นว่า คุซซี่ กันดั้ม (Netflix อ่านว่า คซี) ซึ่งเป็นกันดั้ม Gen 5 ที่พัฒนาต่อจาก RX-104FF Penelope ของฝ่ายสหพันธ์ (เป็นหุ่นพี่น้องกัน สร้างจากผู้ผลิตเดียวกัน แต่อยู่คนละฝ่าย) โดยกันดั้มทั้ง 2 นั้น มีขนาดใหญ่โตถึง 26 เมตร เนื่องจากติดตั้ง Minovsky Flight System ไว้ในตัว ทำให้คุซซี่กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของฝ่ายสหพันธ์ แถม Penelope ที่เป็นเหมือนหุ่นพี่น้องกันนั้น แม้จะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันอยู่แต่ตัวนักบินฝั่งสหพันธ์นั้นก็ถือได้ว่าเป็นนักบินทดสอบมือดีที่อ่อนประสบการณ์รบจริง จนกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฝ่ายมัฟตี้ที่มีกำลังรบน้อยกว่าสามารถต่อกรกับกองกำลังของสหพันธ์ได้อย่างดุเดือด

ฉากต่อสู้กันในภาคนี้ส่วนใหญ่เป็นตอนกลางคืน

แม้เนื้อหาของอนิเมจะเป็นแค่ปฐมบทของเหตุการณ์ทั้งหมดที่ยาวนานถึง 3 ภาค แต่ทีมสร้างอนิเมก็ทุ่มเทกับผลงานชิ้นนี้ ทั้งรายละเอียดของงานภาพที่น่าจะดีเป็นลำดับต้นๆ ของค่ายซันไรส์ ไปจนถึงฉากต่อสุ้ที่ถึงแม้จะเป็นแค่การ “อุ่นเครื่อง” แต่ก็ดูตื่นตาตื่นใจมากครับ คิดว่าถ้าเป็นภาคต่อๆ ไป น่าจะมันส์สะใจกว่านี้อีก แต่ก็ต้องอดใจรออีกนานเป็นปีเหมือนกัน กว่าจะได้ดูภาคต่อ แม้หลายๆ คนอาจจะพอรู้ชะตากรรมของมัฟตี้มาแล้วจากภาคนิยายหรือเกม แต่ก็เดาไม่ได้ว่าภาคอนิเมจะปรับเปลี่ยนไปแค่ไหน เอาเป็นว่าถ้าเป็นแฟนกันดั้มซีรี่ส์ นี่ถือเป็นอนิเมที่ต้องดูครับ พลาดไม่ได้เลย แต่แนะนำว่าอย่างน้อยควรจะดูภาค CCA มาก่อนนะ จะได้พอรู้ความเป็นมาของตัวละครบ้าง ซึ่งใน Netflix ก็มีให้ดูทั้ง 2 ภาคเลยครับ รวมถึงไตรภาคของกันดั้มภาคแรกที่เป็นปฐมบทของเรื่องราวทั้งหมดด้วย