[Netflix] Spriggan 2022

Spriggan ถือเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นอีกเรื่องที่โด่งดังในยุค 90s ซึ่งเป็นยุคที่การ์ตูนมังงะญี่ปุ่นเริ่มก้าวออกจากญี่ปุ่นเผยแพร่ความนิยมไปทั่วโลก โดย Spriggan นั้นเป็นผลงานของ มินากาวะ เรียวจิ และแต่งเรื่องโดย ทาคาชิเงะ ฮิโรชิ ซึ่ง อ.ทาคาชิเงะนั้นก็คือคนเดียวกับที่แต่งเรื่อง เนตรปริศนาล่าทรชน ส่วน อ.มินากาวะ หลังจากจบ Spriggan ก็มีผลงานดังๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง อาทิ ARMS (1997-2002) และ D-Live!! (2003–2006) เป็นต้น

สำหรับเรื่อง Spriggan นั้นเป็นผลงานลำดับต้นๆ ของ อ.มินากาวะ ตีพิมพ์ในนิตยสาร Weekly Shōnen Sunday (ปี 1989) ก่อนที่จะย้ายมาพิมพ์ต่อเนื่องใน Shōnen Sunday Zōkan (1992–1996) มีรวมเล่มออกมา 11 เล่ม และเคยถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมหนังโรงมาก่อนในปี 1998 โดย Studio 4°C ได้หยิบเอาเนื้อเรื่องบทเรือโนอาห์มาทำอนิเม แถมยังได้ Katsuhiro Otomo ผู้สร้าง Akira มาร่วมเขียนบทหนังโรงด้วยนะ และ Spriggan ยังเคยถูกสร้างเป็นวิดีโอเกมลงเครื่อง Playstation ในปี 1999 ด้วย ซึ่งน่าจะยืนยันถึงความสำเร็จของการ์ตูนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

เนื้อเรื่องของ Spriggan จะเกี่ยวกับการตามล่าและคุ้มครองวัตถุโบราณที่มีพลังอำนาจลึกลับที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิทยาการโบราณที่ก้าวหน้าที่ถูกเรียกว่าโอพาร์ตที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก โดยมีองค์กรเอกชนที่ชื่อว่า ARCAM ที่ทำหน้าที่คุ้มครองวัตถุโบราณเหล่านั้นไม่ให้ใครนำมันไปใช้ในทางที่ผิด และเจ้าหน้าที่ที่มีฝีมือระดับท็อปของ ARCAM นั้นจะถูกเรียกว่า สปริกแกน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ โอมินาเอะ ยู เด็กนักเรียน ม.ปลายอายุ 16 ปีที่มีฉากหลังเป็นสปริกแกนมือดีที่สวมชุดเกราะกล้ามเนื้อที่ทำจากโลหะพิเศษโอริคัลคุม(หรือโอริฮารูก้อน ถ้าอ่านแบบญี่ปุ่น) คอยปกป้องวัตถุโบราณเหล่านั้น หรือถ้าจำเป็นก็อาจจะต้องทำลายทิ้งเพื่อไม่ให้โอพาร์ทตกอยู่ภายใต้การครอบครองของคนที่ต้องการอำนาจของมัน

ซึ่ง Spriggan ฉบับปี 2022 นั้นถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำการ์ตูนเรื่องนี้มาทำเป็นอนิเมซีรี่ส์ โดยทำลง Netflix จำนวนทั้งหมด 6 ตอน (เลยถูกนับเป็น ONA หรือ Original Net Animation) และแต่ละตอนก็มีความยาวมากกว่า 40 นาทีซึ่งเกินกว่าสล็อตเวลาของทีวีซีรี่ส์ออกอากาศปกติ เลยคาดการณ์ได้เลยว่าไม่น่าจะถูกนำไปออนแอร์ทีวีแน่ๆ ล่ะ โดยทั้ง 6 ตอนนำเนื้อหามาจากในคอมมิค 6 บท ซึ่งเนื้อเรื่องก็จะจบลงตัวในตอนพอดี ซึ่งนั่นทำให้ตัวอนิเมค่อนข้างมีความกระชับ ฉับไว แต่ก็มีบางตอนก็ดูเหมือนจะรวบรัดและเร่งรีบจนเกินไปอยู่เหมือนกัน

และเนื่องจากตัวต้นฉบันนั้นมาจากการ์ตูนยุค 90s พอทำเป็นอนิเมจึงได้มีการปรับเนื้อหาในเรื่องหลายจุดให้มีความร่วมสมัยกับปัจจุบันมากขึ้น เช่นตัวละครในเรื่องมีสมาร์ตโฟนใช้กันแล้ว (ของเดิมยุค 90s ยังไม่มี) และด้วยเทคโนโลยีงานภาพในปัจจุบัน ก็ทำให้ตัวอนิเมทำออกมาได้ค่อนข้างสวยงาม ผสมผสานงานภาพ 3D กับ 2D ได้อย่างลงตัว สมกับที่เป็นผลงานของ David Production ที่ทำ JoJo’s Bizarre Adventure และ หน่วยผจญคนไฟลุก ที่ได้รับคำชมและประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ตัว Spriggan นั้นกลับรู้สึกว่ายังมีบางตอนบางฉากที่งานภาพแอบเผาเนียนๆ และลายเส้นอนิเมเมื่อเทียบกับต้นฉบับหนังสือการ์ตูนก็ดูเหมือนจะมีความแตกต่างจากต้นฉบับอยู่พอควร

อย่างไรก็ตาม Spriggan ถือเป็นผลงานอนิเมที่ Netflix โปรโมตค่อนข้างหนัก เพราะผลงานเรื่องนี้ค่อนข้างได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดีในตลาดต่างประเทศนอกญี่ปุ่น ก็ต้องมาดูกันว่าตัว Netflix เองจะนำตอนอื่นๆ ที่เหลือมาทำต่อหรือเปล่า เพราะตัวอนิเมยังใช้งานตัวละครหลักในเรื่องได้ไม่ครบเลย แต่โดยส่วนตัวผมว่าถ้าให้เลือกระหว่างคอมมิคและอนิเมแนะนำให้ลองหาคอมมิคมาอ่านก่อนดีกว่า เพราะตัวคอมมิคมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะที่ถูกตัดออกไปในฉบับอนิเม และผมคิดว่าลายเส้นของ อ.มินากาวะในหนังสือการ์ตูนดูทรงพลังกว่าอนิเมเยอะเลย แต่อนิเมที่ทำออกมาก็ดูง่ายและดูสนุกอยู่นะ อันนี้ก็แล้วแต่คนชอบละกัน