30 ปี Mobile Fighter G Gundam

22 เมษายน ปีนี้ เป็นวันครบรอบ 30 ปีของ Mobile Fighter G Gundam ครับ โดยอนิเมเรื่องนี้ ออกอากาศทางช่อง TV Asahi เมื่อ 22 เมษายน 1994 ความยาวทั้งสิ้น 49 ตอน

ซึ่งก่อนหน้านั้นทาง TV Asahi ก็เพิ่งออกอากาศอนิเม V Gundam จบไปเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คิด เพราะเนื้อเรื่องของ V Gundam นั้นหนักมาก จนกลายเป็นทีวีซีรีส์ของจักรวาล U.C. เรื่องสุดท้ายที่จบไม่สวยในแง่ของเรตติ้งความนิยมที่ไม่เปรี้ยงเท่าที่คิด (แต่ผมน่ะ ชอบภาค V มากเลยนะ) และอีกส่วนหนึ่งคือ แฟนๆ เด็กๆ รุุ่นใหม่ในยุคนั้นเริ่มไม่อินกับกันดั้มในจักรวาล U.C. แล้ว เพราะเกิดไม่ทันยุคกันดั้มภาคแรกรุ่งเรือง และในช่วงยุค 90s ตลาดอนิเมก็เริ่มเปลี่ยนทิศจากกระแสเรียลโรบ็อตในยุค 80s มาเป็นการ์ตูนที่ดูง่ายขึ้น แอ๊คชั่นมากขึ้น เพราะตอนนั้นตลาดวิดีโอเกมคอนโซลกำลังเติบโตและมาแย่งความสนใจจากเด็กๆ ไปไม่น้อย รวมถึงเป็นยุคเฟื่องฟูของการ์ตูนแนวโชเน็นต่อสู้แฟนตาซีอย่างเซนต์เซย่า ดราก้อนบอล ชูราโตะ ฯลฯ จนอนิเมแนวแอ๊กชั่นต่อสู้ออกมาตีตลาดเพียบ ขนาดซันไรส์เองยังต้องไปทำซามูไรทรูปเปอร์ออกมาเลย

G Gundam ที่ถูกวางไว้เป็นโปรเจ็คฉลอง 15 ปีกันดั้ม (ในตอนนั้น) จึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ เริ่มจากการก้าวออกจากจักรวาล U.C. ที่เป็นแกนเรื่องเดิม มาสร้างจักรวาลใหม่ที่ชื่อ Future Century และให้ Kazuhiko Shimamoto (นักเรียนใหม่พลังเพลิง) มาออกแบบตัวละครเพื่อสร้างความแตกต่างจากภาคอื่น แต่ยังคงให้ขาประจำอย่าง Kunio Okawara มาออกแบบหุ่นหลักเช่นเดิม แต่ทีมงานโดยเฉพาะ Bandai เริ่มจับทางได้ว่า หุ่นที่ขายดีที่สุดในเรื่อง ยังไงก็คือกันดั้ม ดังนั้นในภาคนี้ก็เลยให้หุ่นหลักเป็นกันดั้มมันทุกตัวไปเลย โดยให้กันดั้มแต่ละตัว เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศ (โคโลนี่) และเอาอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ มาใส่ไว้ในตัวกันดั้มกันอย่างไม่ต้องสนใจหลักความจริง..และแน่นอน อะไรที่หลุดกรอบกันดั้มเอามันส์แบบนี้ ผู้กำกับโทมิโนะ ไม่ได้กำกับเองแน่ๆ (ยิ่งตอนท้ายๆ ภาค V แกเล่นดราม่าซะคนดูซึมเลย) แต่ได้ Yasuhiro Imagawa ผู้กำกับไจแอนท์โรโบะมากุมบังเหียนแทน

ผลที่ออกมาคือ กันดั้มแนวต่อสู้กันนานาชาติแบบเกมสตรีทไฟเตอร์โดยมีตำแหน่งผู้นำโคโลนี่เป็นเดิมพัน กับพล็อตตามหาพี่ชายที่หายสาบสูญ การต่อสู้ด้วยศิลปการต่อสู้ที่หลากหลาย บอสระดับตำนานอย่างเดวิลกันดั้ม และตอนจบพลังเลิฟเลิฟสุดอภินิหาร ที่แน่นอนแฟนๆ กันดั้มรุ่นเก่าในตอนนั้นออกอาการรับไม่ได้กันเป็นแถว แต่กลับถูกใจแฟนๆ เยาวรุ่นในยุคนั้นที่ไม่ได้อินกับกันดั้ม U.C. มาก่อน จนเรตติ้งผู้ชมเฉลี่ยทางทีวีสูงถึง 4.02% ดีกว่าภาค V ชัดเจน นอกจากนั้นทีมงานยังใส่ลูกบ้าลงไปแบบไม่ยั้ง เช่น ฉากสนามรบหลายๆ ฉากก็ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังของ Federico Fellini, Woody Allen, Alfred Hitchcock หรือกระทั่งหนังจีนกำลังภายใน ฉากดราม่าของศิษย์และอาจารย์สุดบ้าพลังยามตะวันตกดินที่ต่อมากลายมาเป็น Meme ในยุคหลัง และด้วยพล็อตที่ตัวหุ่นเป็นตัวแทนของแต่ละชาติ ทำให้กันดั้มภาคนี้ สามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้ง่าย โดยเฉพาะตลาดตะวันตกที่ไม่ได้อินหรือรู้จักโลกของกันดั้มมาก่อน ทำให้โลกความนิยมของกันดั้มเริ่มก้าวออกจากเกาะญี่ปุ่นอย่างจริงจัง และกลายเป็นแฟรนไชส์ระดับโลกในทุกวันนี้