จากต้นจนอวสาน Gainax ล้มละลาย เพราะอะไร?

ข่าว Gainax สตูดิโอยักษ์ใหญ่ในอดีตประกาศล้มละลายเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการอนิเมเลยทีเดียว เพราะ Gainax นั้นถือได้ว่าเป็นสตูดิโออนิเมที่มีผลงานดังๆ มากมาย อาทิเช่น Neon Genesis Evangelion, Gunbuster, Nadia The Secret of Blue Water, Kare Kano, FLCL, Magical Shopping Arcade Abenobashi, และ Gurren Lagann เป็นต้น ว่าแต่สตูดิโอเก่าแก่ที่มีอายุ 39 ปีและกำลังจะย่างเข้า 40 ในปีนี่กลับล้มละลายได้ทั้งที่มีผลงานดังๆ ในมือมากมาย..ทำไมกันล่ะ

Gainax ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในช่วงตอนต้นศตวรรษที่ 80s ในนาม Daicon Film ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนีกศึกษามหาวิทยาลัยที่มีใจรักในวงการอนิเมอย่าง ฮิกุจิ ชินจิ ,อันโนะ ฮิเดอากิ ,ซาดาโมโต้ โยชิยูกิ ,ยามากะ ฮิโรยูกิ , ทาเคดะ ยาซึฮิโระ,อาคาอิ ทาคามิ และ โอคาดะ โทชิโอะ โดยผลงานเริ่มแรกของ Daicon Film ก็คือการทำอนิเมสั้นสำหรับเปิดฉายในงาน Nihon SF Taikai ครั้งที่ 20 (Daicon III) ซึ่งเป็นเหมือนผลงานล้อวงการอนิเมและหนังฮีโร่ในยุคนั้น (ซึ่งอนิเมสั้นเรื่องนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของฉากเปิดละครเรื่อง Chat รักหนุ่มรถไฟในอีกหลายปีต่อมา) หลังจากนั้น Daicon Film ก็ทำ Daicon IV ออกตามมาอีกในปี 1983 ซึ่งเสียงตอบรับและคำชมได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Daicon Film เปลี่ยนชื่อเป็น Gainax ในปี 1985 และเริ่มต้นทำอนิเมกันอย่างจริงจัง โดยผลงานแบบเป็นทางการเรื่องแรกก็คือ OVA เรื่อง Royal Space Force: The Wings of Honneamise ในปี 1987 และ Gunbuster ในปี 1988 ซึ่ง Gunbuster นั้นถือเป็นผลงานการ์ตูนหุ่นยนต์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคนั้น และได้รับการพูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้เลยทีเดียว

Gainax เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากผลงานชุด Nadia The Secret of Blue Water ในปี 1990-1991 ซึ่งผลงานเรื่องนี้ ถือเป็นทีวีซีรีส์เรื่องแรกของค่าย โดย Gainax ผลิตร่วมกับ Group TAC และ Sei Young Animation (เกาหลี) ซึ่งตัวอนิเมนั้นดังมากๆ ถึงขั้นขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ของญี่ปุ่นในตอนนั้นเลยทีเดียว แต่ลิขสิทธิ์ของเรื่องนี้กลับเป็นของ NHK ทั้งหมด (ขอทุน NHK มาทำ และออกอากาศทาง NHK ด้วย) ทำให้ Gainax แทบไม่ได้อะไรจากผลงานเรื่องนี้มากนักนอกจากชื่อเสียงและค่าจ้างผลิต (เอาจริงๆ หนักไปทางขาดทุนด้วย) ซึ่งในแผนเดิมนั้น เอวานเกเลี่ยนจะมีจุดที่เชื่อมโยงเนื้อหาจากนาเดียด้วย แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์กับ NHK ทำให้เนื้อเรื่องในส่วนนี้ถูกตัดออกไป

และแน่นอนว่า แม้จะมีปัญหาในการผลิตอยู่มากมาย แต่ Neon Genesis Evangelion ในปี 1995 ก็คือผลงานที่สร้างชื่อสูงสุดให้กับ Gainax จนสตูดิโอตั้งตัวได้ และถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของ Gainax ซึ่งเคยมีการประเมินมูลค่าการตลาดของเอวานเกเลี่ยนโดยรวมเอาไว้ว่า อาจสูงถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านเยนเลยทีเดียว (Sponichi Annex 2007) ทว่าในปี 1999 Gainax กลับต้องถูกสรรพากรสอบสวนเรื่องการหลบเลี่ยงภาษีนับพันล้านเยนซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากความสำเร็จของเอวานเกเลี่ยนที่ไม่ถูกเปิดเผยจำนวนมากและทำให้ ซาวามูระ ทาเคชิ ผู้บริหารในขณะนั้นถูกตำรวจจับ ส่งผลให้สตูดิโอ Gainax ที่ตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองต้องถึงจุด “สะดุด” แบบคาดไม่ถึง

ซึ่งจริงๆ การล่มสลายของ Gainax มันก็มีเค้าลางมานานแล้ว เพราะอย่างที่บอกว่าแต่เริ่มเดิมทีสตูดิโอนี้มันเริ่มจากการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนๆ ที่ทำ DAICON มาด้วยกัน โดยคนแรกที่ก้าวเท้าออกไปจาก Gainax ก็คือ ฮิกุจิ ชินจิ ซึ่งจริงๆ เจ้าตัวนั้นเริ่มมีงานเดี่ยวของตนตั้งแต่ปี 1992 แล้ว แต่ก็ยังมีผลงานร่วมกับ Gainax อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะในฐานะของคนเขียนบทเอวานเกเลี่ยน และชื่อของ “อิคาริ ชินจิ” ก็มาจากคุณฮิกุจิ ชินจินี่แหละครับ ซึ่งต่อมา เราจะรู้จักชื่อของเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ “ชิน ก็อตซิล่า” และ “ชิน อุลตร้าแมน” ร่วมกับเพื่อนรักอย่าง อันโนะ ฮิเดอากินั่นเองครับ

ฮิกุจิ ชินจิ

และคนที่มีอิทธิพลมากที่สุดใน Gainax อย่าง อันโนะ ฮิเดอากิ ก็ลาออกไปในปี 2007 เพื่อไปดูแล Khara บริษัทที่ตนเองก่อตั้งมากับมือในปี 2006 และมีผลงานดังที่เรารู้จักกันดีคือ Evangelion: 1.0 You Are (Not) Alone (2007) ซึ่งตัวหนังทำเงินถล่มทลาย ทว่า Gainax เองก็เคยยืมเงิน อันโนะ(Khara) ในปี 2014 ไปเป็นจำนวนถึง 100 ล้านเยน เพราะในตอนนั้นคุณ ทาเคดะ ยาซึฮิโระ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Gainax เป็นคนเอ่ยปากขอยืมเงินอันโนะด้วยตนเอง ถ้าหากไม่ได้เงินร้อยล้านในสามวัน บริษัทเจ๊งแน่นอน อันโนะเลยต้องยอม แต่ Khara กับ Gainax นั้น ยังมีประเด็นพิพาทเรื่องค่าลิขสิทธิ์ที่ Gainax ติดค้างอันโนะตั้งแต่สมัยยังทำงานให้ Gainax เพราะตอนที่เอวานเกเลี่ยนดังสุดๆ อันโนะนั้นแทบไม่ได้เงินพิเศษอะไรเพิ่มจากทาง Gainax เลย ซึ่งผลจากการเจรจากัน ได้ข้อสรุปว่า Gainax จะทยอยจ่ายเงินให้กับอันโนะ (และเป็นเหตุให้อันโนะไม่วางใจ Gainax และทำ Rebuild Of Evangelion ด้วยสตูดิโอของตัวเอง ไม่ปล่อยให้ Gainax ทำ) แต่สุดท้าย Gainax ก็ไม่จ่าย นำมาสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามมาอีก 100 ล้านเยน ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ Gainax ล้มละลายและทำให้เครื่องหมายการค้าของ Gainax ต้องตกเป็นของ Khara ด้วย

อันโนะ ฮิเดอากิ

อีกคนหนึ่งที่เป็นคนสำคัญที่แม้จะไม่ใช่รุ่นก่อตั้ง แต่อิมาอิชิ ฮิโรยูกิ ก็คือคนที่ทำงานร่วมกับ Gainax มาตั้งแต่ปี 1995 จากการดูแลงานด้าน In-Between ให้กับ Neon Genesis Evangelion และสร้างชื่อในฐานะผู้กำกับ Tengen Toppa Gurren Lagann (2007) ,Panty & Stocking with Garterbelt ที่มีสไตล์การเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ ก่อนที่อิมาอิชิจะแยกไปตั้ง Studio Trigger ของตัวเอง และมีผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่าง Kill La Kill ที่เรารู้จักกันดี

ซึ่งการที่ Key Person ของ Gainax ทยอยออกไปเรื่อยๆ (และจริงๆ ก็ไม่ได้ออกคนเดียว แต่พาทีมงานคนอื่นออกไปตั้งสตูดิโอใหม่ด้วย มันก็สะท้อนปัญหาว่า Gainax เองก็น่าจะมีคววามขัดแย้งภายในที่คนนอกอาจไม่รู้ แต่เริ่มระแคะระคายตั้งแต่ ซาวามูระ ทาเคชิ อดีตผู้บริหาร Gainax โดนคดีโกงภาษีตอนปี 1999 (ซึ่งตอนนั้นอันโนะต้องกลายเป็นเดอะแบกออกรับหน้าสื่อด้วยตนเอง) ซึ่งในระยะหลัง Gainax เองก็พยายามเอาเงินทุนของบริษัทไปลงทุนในกิจการหลายอย่างที่ไม่ใช่แนวทางที่ตนถนัด จนสูญเงินทุนไปเป็นจำนวนมากด้วย

หลังจากปี 2018  Fukushima Gainax สตูดิโอใหม่ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2015 (และเป็นเดอะแบกของ Gainax ยุคหลัง) ก็โดน Kinoshita Group Holdings ซื้อกิจการ และเปลี่ยนชื่อไปเป็น Gaina (ซึ่งผลงานล่าสุดของ Gaina ก็คือ Grendizer U ที่กำลังจะออนแอร์นี่แหละครับ) และ มากิ โทโมฮิโระ ที่เพิ่งมารับเผือกร้อนมารับตำแหน่งประธาน Gainax ได้ไม่กี่ปีทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้มีความรู้เรื่องธุรกิจนี้สักเท่าไหร่ ก็ดันก่อเรื่องลวนลามนักพากย์หญิงจนติดคุก จนทำให้สถานการณ์ภายใน Gainax เลวร้ายลงไปอีก แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายจะพยายามเข้ามาช่วยเหลือ แต่ด้วยหนี้ที่ท่วมหัว สุดท้ายก็นำมาสู่การล้มละลายตามที่เป็นข่าวในที่สุดครับ ซึ่งก็น่าจะเป็นการปิดตำนานของ Gainax อย่างเป็นทางการ แต่ไม่ได้หมายความว่าผลงานของ Gainax จะหายไปนะครับ เพราะอย่างที่บอกไปว่า Gainax ยังมีผู้สืบทอดคอยดูแลทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้าต่างๆ ของบริษัทที่ทำให้เรื่องราวของ Gainax ไม่ได้ตายตามสตูดิโอไปด้วย