โปรเจค Mobile Suit Gundam F91 ถือเป็นภาพยนตร์กันดั้มอีกภาคที่อาจเรียกได้ว่าเป็นความพยายามที่จะเปิดศักกราชใหม่ของกันดั้มเป็นครั้งแรก โดยโปรเจคนี้เริ่มต้นด้วยการวางแผนที่จะสร้างเป็นทีวีซีรีส์ที่ทำออกมาเพื่อฉลองวาระครบรอบ 10 ปีกันดั้ม แต่ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นภาพยนตร์หลังจากที่เขียนบทไปแล้ว 13 ตอน และถูกนำมาฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1991
เนื้อเรื่องจะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ในภาค Mobile Suit Gundam: Char’s Counterattack ถึง 30 ปี คือปี U.C 0123 เมื่อกองกำลังครอสโบนแวนการ์ดแห่งจักรวรรดิคอสโมบาบิโลเนีย ได้บุกโจมตีโคโนนี่ฟรอนเทียร์ IV และลักพาตัว เซซิลี เพื่อนสาวของ ซีบุค อาโน ตัวเอกของเรื่องไป เนื่องจากตัวจริงของเซซิลีนั้นก็คือ “เบร่า โรน่า” ทายาทของผู้นำครอสโบนแวนการ์ด ที่จะสืบทอดจักรวรรดิคอสโมบาบิโลเนียต่อไปนั่นเอง
ทว่าตัว ซีบุ๊ค อาโน เอง ก็ต้องกลายมาเป็นไพล็อตของกันดั้ม F-91 ซึ่งแม่ของซีบุ๊คนั้นก็เป็นหนึ่งในทีมวิจัยที่สร้างกันดั้มขึ้นมา และหลังจากสหพันธ์รู้ว่าตัวซีบุ๊คนั้นเป็นนิวไทป์ ก็เลยขอร้อง (แกมบังคับ โดยเอาน้องสาวเป็นตัวประกัน) ให้ซีบุ๊คทำหน้าที่เป็นนักบินของ F-91 เพื่อชิงโคโนนี่ฟรอนเทียร์ IV กลับคืนมา จนซีบุ๊คได้พบกับ เซซิลี ในสนามรบอีกครั้ง แต่เซซิลีในตอนนี้กลับกลายเป็นนักบินของครอสโบนแวนการ์ดไปเสียแล้ว…..
ผู้กำกับโทมิโนะตั้งใจจะให้หนังโรงภาคนี้เป็นกันดั้มที่สามารถรับชมและเข้าใจได้ง่าย จึงขยายช่องว่างจากภาคก่อน (CCA) ไปถึง 30 ปี เพื่อที่จะได้สามารถเซ็ทโลกของกันดั้มได้ใหม่โดยไม่อิงกับของเดิมมาก และโฟกัสเรื่องราวในหนังไปที่ประเด็นปัญหาครอบครัวเป็นหลัก (ทั้งฝั่งซีบุ๊คและเซซิลี) แถมเพลงประกอบก็เพราะมากๆ ด้วย แต่อย่างที่บอกครับว่าโปรเจคนี้เดิมทีมันใหญ่มาก มันจึงมีเซตติ้งเรื่องราวทั้งก่อนและหลัง ตั้งแต่การถือกำเนิดของฟอร์มูล่าซีรีส์ของบริษัท SNRI ที่จะเข้ามาแทนโมบิลสุทของอนาไฮม์ ซึ่งถูกทำออกมาเป็นไซด์สตอรี่มากมาย และถูกนำมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์กันดั้มในภาคอื่นๆ (ที่สร้างทีหลัง) ไปจนถึงเรื่องราวหลังเหตุการณ์ภาคนี้ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวาลครอสโบนกันดั้ม ที่จนบัดนี้ผ่านมา 30 ปีแล้วก็ยังไม่จบลงง่ายๆ
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ขนาดกันดั้มในเรื่องที่มีขนาดเล็กลง จากเดิมที่กันดั้มในภาคปกติจะสูง 18 เมตร และพอภาค CCA นิวกันดั้มสูงไปถึง 22 เมตร แต่พอภาค F-91 นั้นกลับเหลือแค่ 15 เมตร ซึ่งในเนื้อเรื่องอธิบายว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นทำให้ตัวหุ่นมีขนาดเล็กลง (ส่วนเรื่องความขัดแย้งภาคฮาซาเวย์และเรื่องอนาไฮม์ x SNRI ขอพูดถึงทีหลัง ไม่งั้นยาว) แต่ใจจริงผู้กำกับโทมิโนะตั้งใจจะให้กันดั้มภาคนี้สูงแค่ 10 เมตรเท่านั้นเองครับ ซึ่งเป็นไซส์ใกล้เคียงกับดันไบน์ เพราะแกอยากเน้นตัวมนุษย์ที่เป็นคนขับมากขึ้น แต่หลังจากไปคุยกับสปอนเซอร์ (Bandai) ก็ได้ข้อสรุปออกมาที่ 15 เมตรนี่แหละครับ
ส่วนคนออกแบบ F-91 (ที่ไม่ใช่แม่ซีบุ๊ค) ตัวจริงก็คือ โอคาวาระ คุนิโอะ คนดีคนเดิมของเรา โดยจุดเด่นของ F-91 ก็คือ ปืนใหญเวสเบอร์ หรือ Variable Speed Beam Rifle ขนาดใหญ่ ระบบไบโอคอมพิวเตอร์ที่ช่วยสนับสนุนนักบิน ระบบบีมชิลด์ ที่จะกลายเป็นมาตรฐานของกันดั้มในยุคหลัง และระบบ Metal Peel-off Effect, abbreviated (MEPE) ที่ทำให้ F-91 ดูเหมือยแยกร่างได้ เพราะไม่ใช่แค่ความเร็วจนเกิดภาพติดตา แต่ยังร่อนผิวโลหะออกไปด้วยซึ่งช่วยหลอกเซนเซอร์ของคู่ต่อสู้จนดูเหมือนกับ F-91 แยกร่างได้จริงๆ (อันนี้เว่อร์มาก แต่ก็เจ๋งดี)
Gundam F-91 ทำรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์อยู่ที่ 520 ล้านเยน ซึ่งจริงๆ ก็ถือว่าเยอะนะ แต่ไม่ถึงเป้าที่วางไว้ เพราะกันดั้มหนังโรง 4 ภาคหลักก่อนหน้านั้นทำรายได้เกินหลักพันล้านเยนหมดเลย ทำให้แผนที่จะสร้างซีรีส์กันดั้มต่อจาก F-91 ถูกระงับและปรับแก้ไข ซึ่งส่วนหนึ่งก็กลายเป็นจักรวาลครอสโบน(คอมมิค) และส่วนหนึ่งก็กลายมาเป็น V Gundam ที่เคยพูดถึงไปแล้วนั่นเองครับ