ในบรรดาผลงานของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ ที่มีออกมาหลากหลายเรื่องและแนวทาง เรื่องหนึ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษ และคิดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในผลงานที่ไอเดียบรรเจิดที่สุดของ อ.เท็ตสึกะ ก็คือ สามตาปาฎิหาริย์ หรือที่สมัยก่อนเราจะเรียกกันว่า ชาราคุ เจ้าหนูสามตา นั่นเองครับ
เรื่องราวคร่าวๆ ก็คือ ชาราคุ โฮสุเกะ ตัวเอกของเรื่อง เป็นเด็กมัธยมหัวเหม่งร่างเล็กนิสัยขี้แยเหมือนเด็กประถม จนวาโตะ เพื่อนสาวคนสนิท ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา (เหมือนแม่กับลูก) ทว่าตัวจริงของชาราคุนั้นก็คือ ทายาทเผ่าสามตาคนสุดท้ายที่หากพลาสเตอร์ที่หัวหลุดออก ตาที่สามของชาราคุก็จะปรากฎ และตัวตนที่แท้จริงของชาราคุก็จะตื่นขึ้นมา กลายเป็นชาราคุที่ฉลาดระอับอัจฉริยะ เจ้าเล่ห์ แถมยังมีพลังพิเศษสารพัดอีก
การ์ตูนเรื่องนี้เขียนขึ้นในช่วงปี 1974-1978 หรือเป็นยุคเดียวกับที่ อ.เท็ตสึกะเขียนเรื่อง Black Jack ซึ่งในช่วงนั้นวงการการการ์ตูนญี่ปุ่นกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งทั้ง Black Jack และ สามตาปาฎิหาริย์ ก็เป็นเหมือนการพัฒนาไปข้างหน้าอีกก้าวของ อ.เท็ตสึกะ ที่พยายามหลุดออกจากกรอบความสำเร็จเดิมๆ ผลงานเริ่มดาร์คขึ้น มีมิติตัวละครที่ลึกขึ้น ซับซ้อนขึ้น และมีความเป็นการ์ตูนโชเน็นที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นด้วย (ไว้ว่างๆ จะพูดถึงเรื่องนี้อีกที ตอนที่จะเขียนถึง Black Jack เร็วๆนี้)
โดยโทนเรื่องของสามตาปาฎิหาริย์ นั้นก็จะมีทั้งความดราม่าแฟนตาซี การผจญภัยไขปริศนาในโบราณสถานที่แสนลึกลับ เรื่องราวอภินิหารไปจนถึงวิทยาศาสตร์ล้ำยุค รวมถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างชาราคุกับวาโตะที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้หลุดกรอบไปจากผลงานเรื่องอื่นๆ (ชาราคุนี่ถือได้ว่าเป็นตัวละครสองบุคลิกเรื่องแรกๆ เลยนะ) แต่ที่สำคัญก็คือ มันสนุกครับ เป็นการ์ตูนที่เอากลับมาอ่านตอนนี้ก็ยังสนุกอยู่เลย
สามตาปาฎิหาริย์ เคยถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมสองครั้ง ครั้งแรกในชื่อ Akumatō no Prince : Mitsume ga Tōru เป็นทีวีสเปเชียลยาว 85 นาที เมื่อปี 1985 โดยโตเอะ ถ้าจำไม่ผิด เหมือนผมจะเคยดูภาคนี้ในรูปแบบ VDO (เช่ามาดู) และฉบับทีวีซีรีส์ยาว 48 ตอนช่วงปี 1990-1991 โดย Tezuka Productions ซึ่งหลายๆ คนน่าจะเคยดูเวอร์ชั่นนี้ เพราะเคยมีลิขสิทธิ์ในบ้านเราและเคยลงช่องทีวีบ้านเราด้วยครับ