ช่วงนี้หลายๆ คนคงรู้สึกเหมือนกันว่า หนังสือการ์ตูนยุคนี้มันเริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ ตัวผมเองก็ถือเป็นคนซื้อการ์ตูนคนหนึ่ง ยังแปลกใจเลยว่าในเวลาแค่ 20 กว่าปี จากการ์ตูนลิขสิทธิ์ยุคแรกที่เล่ม 25 บาท (จริงๆ มี 20 บาทด้วย) ตอนนี้กลายเป็นขั้นต่ำ 60-70 บาทกันหมดแล้ว บางเล่มก็ทะลุร้อยบาทไปไกลเลยก็มี ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว มาคุยกันเรื่องต้นทุนหนังสือการ์ตูนแบบบอกเล่าเก้าสิบกันดีกว่าครับ ว่าจริงๆ แล่ว เงิน 70 บาทที่เราจ่ายไปเนี่ย มันไปโผล่ตรงส่วนไหนบ้าง โดยอาจจะขอเล่าแยกเป็นส่วนๆ ไป เพราะเขียนยาวๆ รวดเดียวคนก็ไม่ค่อยอยากอ่านกันหรอก(ฮา) ซึ่งเรื่องที่เล่าต่อจากนี้ ถือเป็นประสบการณ์ตรงส่วนตัวของผมนะ เพราะตัวผมเองก็ทำงานมา 3-4 สนพ.แล้ว และแต่ละที่ก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไป แต่มันก็ไม่มีถูกผิดหรอก ก็ถือว่าเป็นเรื่องเล่าในอีกมุมหนึ่งที่ไม่ขอพาดพิง สนพ.ไหนเป็นพิเศษละกัน
อย่างแรก สิ่งที่เราต้องพูดถึงก็คือ เรื่องระบบขนส่ง หรือที่เราเรียกว่า สายส่ง ครับ หนังสือการ์ตูนเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาระบบสายส่งในการกระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือทั่วประเทศ ซึ่งสายส่งนี่จะมีทั้งแบบสายส่งการ์ตูน (รายใหญ่ๆ มักกระจุกกันแถวผ่านฟ้า) สายส่งหนังสือปกติ(ที่ไม่ใช่การ์ตูน) สายส่งร้านหนังสือทั่วไป ร้านโมเดิร์นเทรด(เช่น ร้านหนังสือตามห้างสรรพสินค้า) แยกย่อยกันไปอีก แต่โดยปกติแล้ว สนพ.จะโดนหักค่าสายส่งไปที่ราวๆ 35-45% ครับ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับฝีมือและอำนาจการต่อรอง ถ้าเป็น สนพ.รายย่อยหรือมือใหม่อาจจะโดนหักเปอร์เซนต์หนักกว่านั้นอีก ดังนั้น การ์ตูนเล่มหนึ่ง สมมุติว่าราคา 70 บาท ตัวเลขโดยประมาณที่สำนักพิมพ์จะได้ จะอยู่ที่ 42 บาทเท่านั้นเองครับ
ถ้าถามว่าทำไมสายส่งถึงต้องหักส่วนแบ่งไปสูงถึงขนาดนั้น (40%) หากมองในมุมสายส่ง เขาก็ไม่ได้เอากำไรมากนะครับ เพราะสายส่งนั้นต้องส่งหนังสือไล่เป็นทอดๆ ตั้งแต่ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ไปจนถึงร้านการ์ตูนรายย่อย ซึ่งเปอร์เซนต์มันก็จะลดหลั่นกันไปครับ อย่างสายส่งส่งให้นี่ปั๊ว ก็อาจจะให้ส่วนลดยี่ปั๊ว 25-30% ของราคาปก พอยี่ปั๊วส่งต่อให้ซาปั๊วก็ให้ส่วนลดอีก 5-10% กระทั่งร้านการ์ตูนซึ่งเป็นปลายทางก็ยังลดให้ลูกค้าอย่างเรา 5-10% เลย ดังนั้นสายส่งก็จะได้กำไรจริงๆ ประมาณ 5-10% ต่อเล่มเท่านั้น
เพียงแต่ข้อดีของธุรกิจสายส่งก็คือ หนังสือการ์ตูนส่วนใหญ่ในบ้านเรานั้นเป็นระบบขายฝากครับ คือสายส่งสามารถส่งคืนสำนักพิมพ์ได้หมด โดยมีระยะในการฝากขาย 3 เดือน 6 เดือน แล้วแต่กรณีไป ถ้าขายไม่หมด ก็อาจจะฝากขายต่อ หรือส่งคืน สนพ. ไม่ก็เอาไปเปลี่ยนเป็นปกใหม่ก็มี
ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ หลายๆ คนก็อาจจะเคยมองว่า สายส่งการ์ตูนเป็นธุรกิจเสือนอนกินนี่หว่า..เพราะแค่ฝากขายไม่ต้องลงทุนอะไรเลย..เพราะต้นทุนผลักให้ สนพ.รับไปหมด แต่ในความเป็นจริง(มีความเป็นจริงเยอะจังแฮะรอบนี้) ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาธุรกิจสายส่งหนังสือปิดตัวเยอะมากครับ ขนาดสายส่งยักษ์ใหญ่ระดับประเทศรายหนึ่งยังถึงกับปิดกิจการกันเลย เพราะในการเปิดสายส่งนั้น มีต้นทุนการบริหารจัดการที่ค่อนข้างเยอะครับ การจัดส่งหนังสือไปทั่วประเทศก็มีต้นทุน ค่าแรง ไปจนถึงค่าโกดังสินค้า เพราะการพิมพ์หนังสือนี่ใช้พื้นที่ในการเก็บเยอะมาก แล้วหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งก็พิมพ์กันหลักหลายพันเล่ม ปริมาณก็ไม่ใช่น้อย แถมแต่ละสัปดาห์ยังออกกันหลายปกอีก ถ้าใครเคยเห็นโกดังของสายส่งหรืือสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ นี่เรียกได้ว่าเก็บไวท์เบสหรืออากาม่าได้ทั้งลำเลย แถมหนังสือยังเป็นสินค้าที่เสียหายง่ายด้วย เกิดยับ เปียกน้ำ หรือปลวกกินขึ้นมา เกิด สนพ.ไม่รับคืน สายส่งก็ซวยอีก (ตอนน้ำท่วมใหญ่นี่เจ็บหนักกันหลายเจ้า ทั้ง สนพ. ทั้งสายส่งเลย)
ซึ่งเดิมทีหลายๆ คนก็อาจจะเคยคิดว่า หาก สนพ.เปิดสายส่งเอง ก็น่าจะลดต้นทุนไปได้เยอะ เพราะไม่ต้องหักส่วนแบ่งให้ใคร ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนก็อาจใช่ครับ แต่สมัยนี้หนังสือการ์ตูนไม่ได้ออกเยอะเหมือนสมัยก่อน บาง สนพ.ก็ลดวันออกหนังสือลง จากเดิมเคยออก จันทร์ พุธ ศุกร์ ก็เหลือแค่ จันทร์ กับ พุธ บางเจ้าก็ลดวันออกเหลือสัปดาห์ละวัน ก็เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งลง (จากวิ่งรถสัปดาห์ละสองสามรอบก็เหลือรอบเดียว) แต่สำหรับสายส่งถ้า สนพ. ออกหนังสือน้อยลงเรื่อยๆ สายส่งก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะค่าบริหารจัดการยังคงเท่าเดิม (หนำซ้ำ ค่าแรง ค่าน้ำมัน ก็ยังขึ้นเรื่อยๆ) แถมตอนนี้ร้านการ์ตูนเปิดใหม่ก็แทบไม่มี มีแต่ข่าวร้านการ์ตูนปิดตัวลงเรื่อยๆ ใครที่ทำธุรกิจสายส่งก็ยิ่งเหนื่อยขึ้นไปอีก เพราะการที่ร้านการ์ตูนปิดไปร้านหนึ่ง รายได้ที่เคยได้ก็ย่อมลดลงตามไป (แถมยังไม่มีเปิดใหม่เพิ่มอีก)
พอสายส่งเริ่มมีปัญหา แนวโน้มที่เราเห็นกันในตอนนี้ก็คือ สนพ. ต่างๆ เริ่มเน้นส่งหนังสือเองมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง (แน่นอน..เหนื่อยมากขึ้น) หันมาขายออนไลน์เองมากขึ้น ขายตรง (ออกบูธ-งานหนังสือ) เองมากขึ้น ในขณะที่ บาง สนพ.ก็เริ่มเน้นขายหนังสือเข้าร้านแนวโมเดิร์นเทรดหรือส่งร้านหนังสือตามห้าง(ที่ไม่ใช่ร้านการ์ตูน) มากขึ้น ซึ่งร้านพวกนี้มีสาขาเยอะ การจัดการบริหารสต๊อกหนังสือจึงทำได้ค่อนข้างดี แต่ก็มีปัญหาตรงที่เปอร์เซนต์ที่โดนหักจะค่อนข้างสูง และพอเป็นร้านในห้างก็จะมีปัญหาเรื่องค่าพื้นที่เข้ามา เพราะค่าเช่าที่ขายของในห้างจะแพง (แถมค่าเช่าขึ้นแทบทุกปี) ทำให้ร้านหนังสือบางร้านไม่อยากขายการ์ตูนเท่าไหร่ เพราะโดยปกติหนังสือการ์ตูนมีราคาถูกกว่าหนังสือประเภทอื่น การ์ตูนที่วางขายตามร้านหนังสือกลุ่มนี้จึงมักจะเป็นการ์ตูนที่มีราคาปกสูง เพราะมันจะคุ้มค่าในการวางขายในร้านมากกว่า
แค่เริ่มเรื่องสายส่งก็เหมือนจะเริ่มยาวแล้ว เอาไว้ตอนต่อๆ ไป จะเล่าให้ฟังกันต่อครับว่า 60% ที่เหลือหลังจากหักค่าสายส่งนี่ ยังมีต้นทุนอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนครับว่า รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละที่ แต่จะ สนพ.ก็จะต่างกันไป เพราะสำนักพิมพ์ที่มีโรงพิมพ์ของตัวเองกับจ้างที่อื่นพิมพ์ก็จะมีมุมมองที่ต่างกันและยังเจอปัญหาปลีกย่อยต่างกันไปอีก ตัวผมก็จะบอกเล่าเรื่องราวในมุมมองประสบการณ์ตรงของผมที่อาจจะเหมือนหรือต่างจากคนอื่นบ้าง (เพราะตัวผมก็ผ่านงาน สนพ.มาไม่น้อยกว่า 4 สนพ. ซึ่งทั้ง 4 ที่ที่เคยทำก็ต่างกันไปแบบคนละขั้วอีก) ก็อย่าเพิ่งแปลกใจอะไรไปนะครับ ว่าบทสรุปของเรื่องบางเรื่อง มันอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้…