Kiteretsu Daihyakka : เออิชิสมองกล

Kiteretsu Daihyakka (แปลตรงตัวคือ สารานุกรมของคิเทเรตสึ) เป็นผลงานการ์ตูนที่โด่งดังอีกเรื่องของ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ผู้เขียนโดราเอม่อน ที่เขียนขึ้นมาครั้งแรกตั้งแต่ปี 1974 (มีตีพิมพ์ลิขสิทธิ์ไทยโดย NED) ก่อนที่จะถูกนำมาเขียนใหม่ในเวอร์ชั่นปรับปรุงอีกครั้งในปี  1988 หลังจากที่มีการนำไปทำอนิเมออกฉายทางฟูจิทีวีในปีเดียวกัน และกลายเป็นผลงานอนิเมที่ยาวที่สุดอีกเรื่องหนึ่งของ อ.ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ คือยาวถึง 331 ตอนจากการออกฉายต่อเนื่องนานกว่าแปดปี (ถ้านับเฉพาะผลงานของ อ.ฟูจิโกะ ก็เป็นรองแค่โดราเอม่อนเรื่องเดียว) ซึ่งในบ้านเราเองก็เคยถูกนำมาออกอากาศทางทีวีหลายครั้ง โดยครั้งแรกนั้นออกอากาศทางช่อง 5 ใช้ชื่อว่า “เออิชิสมองกล” ก่อนจะมาออกอากาศทางช่อง 9 และทางทรูวิชั่นโดยใช้ชื่อว่า “นักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว” และ “เจ้าหนูนักประดิษฐ์” ตามลำดับ

สำหรับเรื่องราวของคิเทเรตสึจะเป็นเรื่องของ คิเตะ เออิชิ เด็กนักเรียนชั้นประถม ที่ไปค้นพบสารานุกรมของปู่ทวด “คิเทเรตไซ” สุดยอดนักประดิษฐ์ในยุคเอโดะ ซึ่งสิ่งประดิษฐ์อันน่าทึ่งของคิเทเรตไซนั้นบางส่วนไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ในยุคเอโดะ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบหลายๆ อย่างที่ยุคนั้นไม่มี คิเทเรตไซจึงเขียนสารานุกรมบันทึกวิธีการสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เอาไว้ให้ลูกหลานนำไปสานต่อ ซึ่งสารานุกรมเล่มนี้ต้องใช้เลนส์ชนิดพิเศษเท่านั้นถึงจะมองเห็น พอเออิชิมาค้นพบความลับนี้เข้าทำให้เขาทดลองสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ขึ้นมาโดยดัดแปลงเอาวัตถุดิบในยุคปัจจุบันมาใช้ และสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกที่เขาสร้างขึ้นก็คือ เจ้าหุ่นโคโรสึเกะนั่นเอง และหลังจากนั้นเขาก็สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ขึ้นมาอีกมากมายที่จะนำพาเออิชิและเพื่อนๆ ไปผจญภัยในโลกอันแสนกว้างใหญ่ใบนี้

จริงๆ แล้วคิเทเรตสึนั้นมีโครงสร้างที่เหมือนกับผลงานสุดฮิตอย่างโดราเอม่อนมากๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “มุมกลับ” ของโดราเอม่อนก็ได้ เพราะดูเหมือนว่า อ.ฟูจิโกะนั้นอาจต้องการให้ผลงานเรื่องนี้แก้ไขจุดบกพร่องหลายๆ อย่างของโดราเอม่อน โดยมีแก่นของเรื่องอยู่ที่ “เครื่องมือพิเศษ” เหมือนกัน แต่ที่ต่างกันคือโดราเอม่อนใช้ของวิเศษจากอนาคต แต่คิเทเรตสึนั้นเป็นผลงานประดิษฐ์จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ดังนั้นสิ่งประดิษฐ์ของคิเทเรตสึจึงไม่มีผลกระทบกับอนาคตเหมือนโดราเอม่อนที่เอาของจากโลกอนาคตย้อนมาแก้ไขอดีตเพื่อให้อนาคตเปลี่ยนไป

ตัวคิเทเรตสึนั้นก็เป็นมุมกลับของโนบิตะที่ไม่ขี้แยเอาแต่พึ่งของวิเศษ แต่กลับเป็นเด็กฉลาดที่ประดิษฐ์ของวิเศษขึ้นเอง (ถึงฉลาด แต่ก็ไม่ใช่ระดับอัจฉริยะ ไม่ได้เรียนเก่งทุกวิชา และยังอ่อนวิชาพละอยู่) ส่วนตัวละครในเรื่องก็ไม่ได้มีคาแรกเตอร์ที่สุดโต่งจนเกินไป อย่างบุตะกอริล่าก็เป็นเด็กที่ชอบใช้กำลังเหมือนไจแอนท์ ที่บ้านของบุตะกอริล่าก็เป็นร้านขายของเหมือนกัน เพียงแต่ของบุตะกอริล่าจะเป็นร้านขายผัก แถมเจ้าตัวยังรักงานร้านขายผักเอามากๆ ด้วย (ซึ่งจุดนี้ต่างกับไจแอนท์) ซึ่งตัวละครอื่นๆ ก็จะเป็นไปในลักษณ์เดียวกัน คือเป็นคาแรกเตอร์ที่เหมือนถอดมาจากโดราเอม่อนแต่กลับเพิ่มมุมกลับบางอย่างที่ทำให้ตัวละครมีมิติไม่สุดโต่งจนเกินไป ซึ่งนั่นทำให้อนิเมเรื่องนี้แม้จะไม่ถึงกับโด่งดังในระดับตำนาน แต่ก็ฉายได้ยาวนานและต่อเนื่องนานถึงแปดปีเลยทีเดียว (และยังเป็นผลงานเรื่องแรกๆ ของ อ.ฟูจิโกะ ฟูจิโอะที่ทำเป็น DVD BOX SET วางจำหน่ายด้วย

โคโรสึเกะ

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผลงานเรื่องนี้เป็นที่จดจำสำหรับชาวญี่ปุ่นก็คือ เพลงประกอบอนิเมเรื่องนี้ ที่หลายๆ เพลงโด่งดังเอามากๆ ถูกนำมาร้องใหม่หมายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเพลง Hajimete no Chū (จูบแรก) ซึ่งเป็นเพลงเปิดเพลงที่ 4 และนำกลับมาเป็นเพลงจบที่ 6 ของเรื่องนั้นถูกนำมาร้องโคฟเวอร์กันบ่อยมาก ขนาดคิมุระ ทัตสึยะ และวงสแกนดัล ยังเคยร้องเพลงนี้ และนักร้องสาวชาวไทยอย่างน้องนิววี่ที่ไปเดบิวที่ญี่ปุ่นกับค่ายโคลัมเบียมิวสิคก็ออกซิงเกิลโคเวอร์เพลงนี้ด้วยครับ

はじめてのチュウ เวอร์ชั่นน้อง Newwy(ニウィ)

ปล.บทความนี้ผมเคยเขียนลงเซนชูแมกกาซีนเมื่อนานมากแล้ว เลยเอากลับมาเขียนแก้ใหม่แล้วลงไว้ในเวบนี้ครับ