[GHIBLI]From Up on Poppy Hill

หลังจากที่ผลงานชุด Tales from Earthsea ของ มิยาซากิ โกโร่ ลูกชายของ มิยาซากิ ฮายาโอะ ทำออกมาได้ไม่ถูกใจนักวิจารณ์สักเท่าไหร่ (ซึ่งสวนทางกับรายได้ที่ถือว่าดีทีเดียว) ในที่สุด เจ้าตัวก็กลับมาแก้มือได้สำเร็จ ในผลงานชุด From Up on Poppy Hill ในปี 2011 ที่คราวนี้ นอกจากรายได้จะดีแล้ว กระแสตอบรับจากผู้ชมและคำวิจารณ์ ก็ออกไปทางดีด้วย

From Up on Poppy Hill หรือชื่อญี่ปุ่น Kokuriko-zaka Kara และชื่อไทย ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ (ที่ผมว่ามันไม่ค่อยตรงตามเนื้อเรื่องสักเท่าไหร่ เพราะมันไม่มีปาฏิหาริย์อะไรเลย) เป็นอนิเมแนวโหยหาอดีตแบบฉบับของจิบลิ ที่จะพาผู้ชมย้อนกลับไปในปี 1963 หรือช่วงหนึ่งปีก่อนการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิค 1964 โดยเล่าเรื่องราวผ่านเด็กมัธยมปลายสองคน คือ มัตสึซากิ อุมิ เด็กสาววัย 16 ปี ผู้สูญเสียบิดา(กัปตันเรือ)ไปในสงครามเกาหลี และ คาซามะ ชุน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน ที่ต้องการต่อต้านการรื้อ Quartier Latin อาคารเก่าแก่ซึ่งเป็นตึกกิจกรรมของนักเรียนทิ้ง

อุมิ และ ชุน กับเรื่องราวในโยโกฮามะปี 1963

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องราวของอนิเมบอกเล่าเรื่องราวของสังคมญี่ปุ่นในปี 1963 ซึ่งเป็นยุคที่เด็กรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง (1945) จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่า(ยุคสงคราม)และคนรุ่นใหม่(ยุคหลังสงคราม) รวมถึงแนวคิดประชาธิปไตยที่กำลังถกเถียงกันไปทั่วโลกขณะนั้น (ยุค 60s) ในขณะที่เรื่องราวของชุนและอุมิ ก็ถูกนำเสนอราวกับรักน้ำเน่า ที่พลิกผันกันตั้งแต่กลางเรื่องไปจนถึงปลายเรื่อง เกี่ยวกับประเด็นชาติกำเนิดของทั้งสองคน

การถกเถียงเรื่อง Quartier Latin กับประชาธิปไตยในหมู่คนรุ่นใหม่

สิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของเรื่องก็คือ การชักธงสัญญาณของอุมิ ซึ่งธงสัญญาณนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างอุมิและพ่อที่จากไปในสงคราม โดยความหมายของธงสัญญาณของอุมินั้นก็คือ “ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ” ซึ่งพ่อของอุมินั้น ออกเดืนเรือไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย แต่ธงสัญญาณนั้นกลับทำให้อุมิได้พบกับ คาซามะ และเกิดเป็นความผูกพันที่ซับซ้อนขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ขอไม่อธิบายลึกมาก เพราะจะสปอยเนื้อเรื่องค่อนข้างแรง แต่พูดตามตรงว่า มันออกจะนิย๊าย..นิยาย จริงๆ แม้ต้นฉบับของเรื่องนี้จะมาจากหนังสือการ์ตูนก็ตาม

From Up on Poppy Hill ออกฉายที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ใช้ทุนสร้างมากกว่า 2 พันล้านเยน แต่ก็ทำรายได้ในญี่ปุ่นมากถึงสี่พันล้านเยน ตัวหนังเข้าชิงและกวาดรางวัลจากหลายสถาบัน และอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวก็คือ เพลงประกอบของเรื่อง ที่ใช้เพลง Ue o Muite Arukō ของ ซากาโมโตะ คิว ซึ่งทั่วโลกรู้จักเพลงนี้ในชื่อ “สุกี้ยากี้” (เพลงเดียวกับที่ MK สุกี้ เอามาแปลงเป็นเพลงโฆษณานั่นแหละครับ) ซึ่งเพลงนี้เข้ากับบรรยากาศของโยโกฮาม่าในปี 1963 มากๆ นอกจากนี้ ผมว่านี่เป็นหนังจิบลิที่ดูง่ายที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ในวงกว้างด้วยล่ะครับ