ROUGH

แม้ Rough จะไม่เคยถูกสร้างเป็นอนิเม แต่เวลาที่มีการพูดถึงการ์ตูนของ อาดาจิ มิตซึรุ Rough (รักต้องลุย) จะติด 1 ใน 3 เรื่องแรกที่คนไทยพูดถึงอยู่เสมอ แม้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้ จะเขียนมาตั้งแต่ปี 1987 หรือกว่า 37 ปีมาแล้ว

mde

Rough เป็นการ์ตูนรักวัยรุ่น ซึ่งอาดาจิสื่อว่า ชีวิตวัยรุ่นนั้นเปรียบเสมือนเส้นร่าง (Rough) ที่ยังคงวุ่นวาย ไม่ชัดเจน ซึ่งความไม่ชัดเจนนั้นจะถูกเติมเต็มด้วยเรื่องราวมิตรภาพ กีฬา และความรัก ตามสูตรสำเร็จของ อ.อาดาจิ เพียงแต่ว่า Rough นั้น กลับถูกนำเสนอด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าเรื่องอื่น และแกนหลักของเรื่อง ไม่ใช่การ์ตูนเบสบอลแนวถนัด แต่กลับเป็นการ์ตูนว่ายน้ำ

โดยการ์ตูนเรื่องนี้จะกล่าวถึงความขัดแย้งของสองตระกูล ยามาโตะ และ นิโนมิยะ ที่ไม่ถูกกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ เพราะทำร้านขนมแข่งกัน (โดยเฉพาะขนมนกฮูก เฮเฮ กับโฮโฮ) จนมาถึงรุ่นหลานคือตัวเอกทั้งสองที่กลับมาเข้าโรงเรียนเดียวกัน ยามาโตะ เคย์สุเกะ นักกีฬาว่ายน้ำที่สมัย ม.ต้นได้ที่ 3 ถึงสามปีซ้อนจนกลายเป็นปมในใจ กับนิโนมิยะ อามิ สาวน้อยนักกระโดดน้ำที่เฝ้าจับตาดูเคย์สุเกะมานานหลายปีโดยที่เคย์สึเกะไม่รู้ตัว

mde

จุดที่น่าสนใจคือ การ์ตูนเรื่องนี้แม้จะมีความยาวแค่ 12 เล่มจบ แต่กลับมีการผูกเรื่องที่ซับซ้อนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือนอกจากโครงเรื่องความสัมพันธ์ของทางบ้านทั้งสองที่เป็นแกนหลักแล้ว ยังโยงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างเคย์สุเกะและอามิที่เริ่มจากการไม่ถูกกัน แต่กลับเริ่มชอบกัน จนเริ่มไม่ชัดเจนในความรู้สึก เพราะมีตัวแปรอย่างนาคานิชิ ฮิโรกิ ที่เป็นคู่แข่งของเคย์สึเกะ ทั้งในสนามและความรัก และยังมีปมพลิกผันที่ทำให้นาคานิชิประสบอุบัติเหตุจนกลายเป็นดราม่าที่ทำให้อามิรู้สึกผิดจนกระทบถึงความสัมพันธ์ของทั้งสามที่ต้องลุ้นกันไปจนจบเรื่อง

mde

และถึงแม้การ์ตูนเรื่องนี้จะเป็นการ์ตูนว่ายน้ำ ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบเดี่ยว ไม่ใช่แบบทีมเหมือนการ์ตูนเบสบอล แต่ อ.อาดาจิก็เลือกที่จะให้ยามาโตะไปอยู่พอพักกับเพื่อนๆ ซึ่งแต่ละคนดูเหมือนจะแตกต่างกันไปคนละขั้ว แถมอยู่กันคนละชมรม แต่กลับมีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นแบบไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะตัวโองาตะ ที่อยู่ชมรมเบสบอล และเป็นเพื่อนเก่าของอามิ เป็นตัวละครที่ผมชอบมากเป็นลำดับต้นๆ ของเรื่อง และทำให้ความหมายของคำว่า “มิตรภาพ” ในเรื่องนี้ ดูโดดเด่นมาก

mde

สำหรับผม Rough เป็นการ์ตูนที่ลงตัวที่สุดเรื่องหนึ่งของ อ.ดาดาจิ ทั้งการวางพล็อต การเติบโตของตัวละคร การก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาวัยรุ่น และการเดินเรื่องที่ค่อนข้างกระชับ (12 เล่ม หรือ 6 เล่มหนา) ซึ่งก็น่าแปลกใจที่การ์ตูนเรื่องนี้กลับไม่เคยถูกนำไปสร้างเป็นอนิเม แต่อย่างน้อยก็เคยสร้างเป็นหนังโรงคนแสดงในปี 2006 (ซึ่งผมเคยดูในไทยด้วย แต่นึกไม่ออกแล้วว่าดูจากทางไหน) และเคยเป็นแรงบันดาลใจให้กับละครไทยเรื่องหนึ่ง(อีกแล้ว)

ซึ่งถ้าใครไม่เคยอ่าน และยังหาอ่านได้ แนะนำให้ลองหามาอ่านนะครับ