ผ่านมา 59 ปี คุณรู้จักนิตยสารโชเน็นซันเดย์มากน้อยแค่ไหน?

ในปี 2019 ที่กำลังจะถึงนี้ นิตยสารโชเน็นซันเดย์ ซึ่งเป็นนิตยสารการ์ตูนที่เก่าแก่อีกเล่มหนึ่งของญี่ปุ่นกำลังจะมีอายุครบ 60 ปีแล้ว ถืิอได้ว่าเป็นนิตยสารการ์ตูนทียืนหยัดอยู่ในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ตีพิมพ์การ์ตูนดังๆ ออกมามากมายนับร้อยเรื่อง จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นเคียงคู่มากับโชเน็นจัมป์และโชเน็นแมกกาซีน แม้ว่าหลังๆ ความนิยมของโชเน็นซันเดย์จะลดลงไปมากเมื่อเทียบกับยุครุ่งโรจน์ในช่วงปี 1980-1990 แต่ทุกวันนี้การ์ตูนของโชเน็นซันเดย์ก็ยังมีความโดดเด่นและได้รับกระแสตอบรับที่ดีไม่น้อยทีเดียว

นิตยสารโชเน็นซันเดย์ เป็นนิตยสารการ์ตูนในสังกัด สนพ.โชกักกุคัง วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1959 ซึ่งนิตยสารโชเน็นซันเดย์นั้นไม่ได้วางจำหน่ายทุกวันอาทิตย์นะครับ แต่เดิมทีจะวางจำหน่ายทุกวันอังคาร ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาเป็นวันพุธในปี 2011 ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อ “ซันเดย์” นั้น มีสาเหตุจากการที่คุณโตโยดะ คิอิชิ ที่ต้องการให้นิตยสารเล่มนี้สื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่แสนผ่อนคลายนั่นเองครับ

นิตยสารโชเน็นซันเดย์ยุคแรก (1959-1961)

โชเน็นซันเดย์เล่มแรกขึ้นปกด้วยภาพของ นากาชิมะ ฮิเดโอะ นักเบสบอลชื่อดัง (เป็นเทรนด์ในยุคนั้น ที่กีฬาเบสบอลมาแรง และหลังจากนั้นซันเดย์ก็เป็นนิตยสารที่มีการ์ตูนเบสบอลดังๆ ลงตีพิมพ์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเลยครับ) โดยการ์ตูนในยุคเปิดตัวก็จะมี Suriru Hakase (Dr.Tril) ของเท็ตสึกะ โอซามุ Umi no Ouji ผลงานยุคแรกของ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ (ผู้เขียนโดราเอม่อน) Tonkatsu-chan ของ อิชิโนโมริ โชทาโร่ (ผู้ให้กำเนิดคาเมนไรเดอร์) เป็นต้น ซึ่งแน่นอนครับว่าในตอนนั้น ทั้งฟุจิโกะ ฟุจิโอะ และ อิชิโนโมริ โชทาโร่ อาจจะยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก (เมื่อเทียบกับยุคหลังจากนั้น) แต่โชเน็นซันเดย์ ก็ได้เปิดโอกาสให้นักเขียนรุ่นใหม่หลายๆ คนได้แสดงฝีมือ จนได้มีโอกาสพัฒนาตนเองและมีส่วนสำคัญในการผลักดันวงกานการ์ตูนญี่ปุ่นให้เดินหน้าต่อไปได้

คิวทาโร่ – โอโซมัตสึคุง – คิทาโร่ คือการ์ตูนมาแรงในยุค 60-70

ในช่วงปี 1960-1969 โชเน็นซันเดย์ได้ตีพิมพ์ผลงานดังๆ อย่าง Osomatsu-kun (ใช่ครับ หกแฝดนรกที่เรารู้จักกันดีนั่นแหละ) ในปี 1962 ตีพิมพ์เรื่องผีน้อยคิวทาโร่ (ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ) ในปี 1964 นินจาคามุยในปี 1965 Wonder 3 ของเท็ตสึกะ โอซามุ ในปี 1965 นินจาเงาแดงในปี 1966 ปาร์แมนในปี 1967 คุเรในซันชิโร่(ยูโดบอย)ในปี 1968 ฯลฯ ซึ่งผลงานเหล่านี้หลายๆ คนอาจจะพอคุ้นชื่ออยู่บ้าง เพราะหลายเรื่องถูกนำมาทำเป็นการ์ตูนทีวี และเคยฉายในบ้านเราด้วย

พอถึงช่วงปี 1970-1979 เป็นยุคสมัยที่วงการการ์ตูนญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่จุดเปลี่ยน การ์ตูนทีวีเริ่มเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น หนังฮีโร่แปลงร่าง (โทคุซัทสึ) เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื้อหาการ์ตูนก็จะเริ่มเข้มข้นและจริงจังขึ้น การ์ตูนเด่นของโชเน็นซันเดย์ในช่วงนี้ก็อย่างเช่น ผีน้อยคิทาโร่ (เรื่องที่ถูกนำมาทำเป็นอนิเมไม่รู้กี่รอบนั่นแหละ)ในปี 1971 The Drifting Classroom (ฝ่ามิตินรก) ในปี 1972 คิไคเดอร์ ของอิชิโนโมริ โชทาโร่ ในปี 1972 เอ็มมะคุง(นา่งาอิ โก) ในปี 1973 เก็ตเตอร์โรโบ้ของนางาอิโกและอิชิคาวะเคนในปี 1974 โกเรนเจอร์ (ที่ต่อไปจะกลายเป็นหนังขบวนการห้าสีหรือเซ็นไตเรื่องแรกนั่นแหละครับ) ในปี 1975 ต้องรอด (Survival) ในปี 1976 หรือกระทั่งอิคคิวซังที่ฉายทีวีบ้านเราซ้ำไม่รู้กี่รอบก็ตีพิมพ์ประจำอยู่ในโชเน็นซันเดย์ยุคนี้ด้วยนะครับ

ปลายยุค 70 โชเน็นซันเดย์เริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รูปแบบที่เราคุ้นตามากขึ้น แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ ก็คือเรื่อง “ลามู” ที่ทำให้ทาคาฮาชิ รูมิโกะ แจ้งเกิดเต็มตัว

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของยุคนี้ก็คือ การ์ตูนเรื่อง “ลามู ทรามวัยจากต่างดาว” ของ ทาคาฮาชิ รูมิโกะ ที่ตีพิมพ์ในโชเน็นซันเดย์ในปี 1978 ที่กลายเป็นกระแสความนิยมอย่างสูงในระดับที่เรียกได้ว่าเป็นปรากฎการณ์แห่งยุคเรื่องหนึ่ง (จนถึงตอนนี้ผ่านไป 40 ปี ยังมีสินค้าใหม่ๆ จากเรื่องลามูออกวางขายอยู่เลย) ตามด้วยสายลับ 009 ในปี 1979 ที่ทำให้ความนิยมของนิตยสารโชเน็นซันเดย์พุ่งแรงเกินเล่มอื่นๆ และกลายเป็นต้นแบบของการ์ตูนในยุคหลังอีกหลายเรื่อง

ทัช(ซ้าย) ครองแชมป์ยอดขายอันดับ 1 ของซันเดย์มานานหลายสิบปีก่อนที่จะโดนโคนันแซง

ในยุค 80 ซึ่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคทองอย่างเต็มตัว ในบ้านเราเองก็เริ่มเปิดรับการ์ตูนญี่ปุ่นมากขึ้น ตอนนี้โชเน็นซันเดย์ถือได้ว่าเป็นนิตยสารการ์ตูนระดับขึ้นหิ้งแล้ว การ์ตูนหลายเรื่องในซันเดย์ยกพลเรียงแถวเป็นการ์ตูนทีวี ไม่ว่าจะเป็น Sasuga no Sarutobi (นิคุมารุยอดนินจา) หรือ Gu Gu Ganmo (กุ๊กกุ๊ก กัมโมะจอมกวน) แต่เรื่องที่เป็นปรากฎการณ์จนกลายเป็นการ์ตูนระดับร้อยล้านเล่มในปัจจุบันก็คือ TOUCH ของ อาดาจิ มิตสึรุ (ส่งผลให้ อาดาจิ มิตสึรุ และ ทาคาฮาชิ รูมิโกะ ถูกยกให้เป็นสองเสาหลักคู่บุญโชเน็นซันเดย์มาจนถึงปัจจุบัน) และในยุคนี้ยังมีการ์ตูนเด่นๆ อย่าง Honō no Tenkōsei (นักเรียนใหม่พลังเพลิง)ในปี 1983  B.B. ของอิชิวาตะ โอซามุ ผู้เขียน Odd GP (1985) รันม่า 1/2 ของ อ.รูมิโกะ ในปี 1987 ไคโตะคิด ในปี 1987 (ใช่ครับ จอมโจรคิดคู่ปรับโคนันน่ะแหละ เขียนมา 31 ปีแล้วนะ ยังไม่จบเลย) ไยบะ (ผลงานของคนเขียนโคนัน) และการ์ตูนหุ่นยนต์สุดฮิตแพทเลเบอร์ในปี 1988 (ที่บ้านเราฉบับลิขสิทธิ์ดันพิมพ์ไม่จบ)  และส่งท้ายยุค 80 กันด้วยสปริกแกนในปีั 1989

แม้ยุค 90 ซันเดย์จะมีการ์ตูนดังมากมาย แต่ไม่มีเรื่องไหนที่ดังไปกว่า “โคนัน”

พอถึงยุค 90 ที่หลายๆ คนยกให้เป็นยุคทองของนิตยสารโชเน็นจัมป์ที่สร้างสถิติยอดตีพิมพ์สูงสุดตลอดกาล แต่นิตยสารโชเน็นซันเดย์เองก็มีผลงานเด่นๆ ออกมาไม่แพ้กัน และเชื่อว่าน่าจะเป็นจุดสูงสุดของนิตยสารเล่มนี้ด้วยครับ ด้วยผลงานสุดฮิตอย่าง “ล่าอสุรกาย” ในปี 1990 GS มิคามิ (แผนปราบผีไม่มีอั้น) ในปี 1991 การ์ตูนเบสบอลระดับตำนาน Major ในปี 1994 (ไม่มีใครกล้าซื้อลิขสิทธิ์มา เพราะยาวเกิน) และการ์ตูนที่ทำยอดขายสูงสุดตลอดกาลของโชเน็นซันเดย์ “ยอดนักสืิบจิ๋ว โคนัน” ก็เริ่มตีพิมพ์ในปี 1994 นี้ด้วยเช่นกันครับ (ซึ่งตอนพิมพ์ช่วงแรก ๆ หลายคนบ่นว่า ไม่สนุก จะสู้ไยบะได้เหรอ..แต่สุดท้ายก็อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่) นอกจากนั้นก็มี “เปลวฟ้าผ่าปฐพี” ในปี 1995 อินุยาฉะ เทพอสูรจิ้งจอกเงิน ในปี 1996 และหุ่นเชิดสังหารในปี 1997 เป็นต้น

ซึ่งในยุค 90 นี้ บ้านเราเริ่มเข้าสู่ยุคการ์ตูนลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้การ์ตูนในโชเน็นซันเดย์ถูกซื้อลิขสิทธิ์มาตีพิมพ์ในบ้านเราเยอะมากครับ (ตอนนั้นตัวท็อปที่คนแย่งกันซื้อก็คือเรื่องรันม่า 1/2 นี่แหละ) ถึงขนาดบ้านเรามีนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ตีพิมพ์การ์ตูนจากโชเน็นซันเดย์กันแบบไล่หลังญี่ปุ่น ได้แก่นิตยสาร Vision ของสยามอินเตอร์คอมมิค และ Neoz ของวิบูลย์กิจ ซึ่งในส่วนของ Vision นั้นจะมีจุดน่าสนใจตรงที่เกือบครึ่งหนึ่งในเล่มจะตีพิมพ์การ์ตูนไทยด้วย กลายเป็นเวทีแจ้งเกิดของนักเขียนการ์ตูนไทยหน้าใหม่ในยุคนั้นเลย

และอีกจุดที่น่าสนใจก็คือ ในยุคนี้การ์ตูนของซันเดย์เริ่มมีความยาวมากขึ้น จากในอดีตจะมีรวมเล่มยาวไม่เกิน 40 เล่ม การ์ตูนฮิตก็แค่ 20-30 เล่ม (พิมพ์ต่อเนื่อง 5-6 ปี) แต่พอยุคนี้การ์ตูนยาวเกิน 40 เล่มหรือพิมพ์ต่อเนื่องเกิน 8 ปีกลายเป็นเรื่องปกติของค่ายนี้ไปแล้ว

พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แม้ว่าโชเน็นซันเดย์จะยังคงมีการ์ตูนดังๆ อย่าง กัชเบล!(2001) เคนอิจิลูกแกะพันธุ์เสือ (2002) ฮายาเตะ พ่อบ้านประจัญบาน (2004) เซียนเกมรักขอเป็นเทพนักจีบ (2008) MAGI (2009) ไปจนถึง Silver Spoon (2011) แต่ในความเป็นจริง ยอดขายของนิตยสารโชเน็นซันเดย์ตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 กลับร่วงอย่างรุนแรง จากยอดพิมพ์สองล้านเล่มต่อสัปดาห์ในปี 2000 หล่นลงมาเหลือ 330,000 เล่มในปี 2016 หรือลดลงกว่า 80% (ในขณะที่โชเน็นจัมป์เองยอดขายก็ลดลง แต่ไม่รุนแรงเท่าซันเดย์) จนทำให้โชเน็นซันเดย์ไม่ใช่นิตยสารที่มียอดพิมพ์สูงสุดของ สนพ.โชกักกุคังอีกแล้ว (แต่ถ้ามองในแง่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ก็ยังอยู่ในกลุ่มนิตยสารยอดขายสูงอยู่นะ)

แต่ในปีหน้าซึ่งเป็นปีที่นิตยสารโชเน็นซันเดย์จะครบ 60 ปีนั้น ก็เชื่อกันว่าน่าจะมีกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และอาจจะมีไม้เด็ดที่ทำให้ยอดขายนิตยสารเล่มนี้ขยับขึ้นสูงอีกครั้ง (เป็นการบ้านของ บก.โชเน็นซันเดย์คนล่าสุดที่รับตำแหน่งไปเมื่อปี 2015 ที่พยายามจะฉุดยอดขายที่ตกรุนแรงขึ้นให้ได้ โดยมีแนวทางจะส่งเสริมนักเขียนหน้าใหม่ให้มากขึ้น และอาจจะตัดจบการ์ตูนซีรี่ส์ยาวบางเรื่องลง) ซึ่งแน่นอนครับว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ และการ์ตูนใหม่ๆ เข้ามาสร้างสีสันเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน


อัตราการลดลงของยอดพิมพ์นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นช่วง 4 ปีล่าสุด

Period โชเน็นแมกกาซีน

(โคดันฉะ)

โชเน็นจัมป์

(ชูเอย์ฉะ)

โชเน็นซันเดย์

(โชกักกุคัง)

ไตรมาส 1/2014 1,277,500 2,715,834 461,250
ไตรมาส 1/2015 1,156,059 2,422,500 393,417
ไตรมาส 1/2016 1,038,450 2,238,333 345,667
ไตรมาส 1/2017 964,158 1,915,000 319,667